พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเริ่มดำเนินการเพื่อจัดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)
เริ่มจากการเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 - 30 พ.ย. 2565 จากนั้น จะจัด Info session เพื่อชี้แจงการเตรียมเอกสารในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 27 ธ.ค. 2565
หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ในวันที่ 4 ม.ค. 2566 จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 7 ม.ค.2566
สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2566 ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกในวันที่ 6 – 11 ม.ค. 2566 แล้วจะจัดให้มี Info session อีกครั้งกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่มในวันที่ 12 ม.ค. 2566
จากนั้นจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 19 ม.ค. 2566 หลังจากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 20 - 26 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ในวันที่ 27 ม.ค. 2566 จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 28 ม.ค. 2566 และจะประมูลในวันที่ 29 ม.ค. 2566 แทน
ขั้นตอนหลังจากนั้น กสทช. จะจัดให้มีการประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน หลังการประมูล พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ ฯ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในครั้งนี้ หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะไป กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยได้มีการปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล
โดยมีการแยกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในชุดที่ 4 (วงโคจรที่ 126 E) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นของชุดข่ายงานดาวเทียมนี้กำหนดเพียง 8 ล้านบาท
นอกจากนั้น กสทช. ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้กำหนดให้ภาครัฐได้ใช้ดาวเทียมฟรี 1 ทรานสปอนเดอร์ สำหรับดาวเทียมสื่อสารแบบ Broadcast และ 400 Mbps สำหรับดาวเทียมสื่อสารความจุสูงแบบ Broadband ต่อวงโคจรหรือต่อดาวเทียม 1 ดวง ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบสัมปทานเดิมภาครัฐจะได้สิทธิใช้ดาวเทียมฟรีดังกล่าวต่อ 1 สัมปทาน (แม้ว่าสัมปทานหนึ่งจะมี 3 – 4 ดวง ก็ได้เท่านี้)
เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของคณะกรรมการอวกาศแห่งชาติ กสทช. ก็ได้กำหนดให้ บริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายมีส่วนร่วมในการใช้วงโคจรที่ 119.5 E อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดสร้างศูนย์ควบคุมเกตเวย์ของรัฐเพื่อควบคุมการใช้งานดาวเทียมในส่วนของภาครัฐและเป็นการฝึกบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนของตนเองโดยในส่วนนี้รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เป็นต้น
พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ ฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ชุดข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาประมูลฯ ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 5 ชุด (Package) ประกอบด้วย
“กสทช. คาดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลฯ ที่ปรับปรุงนี้ จะทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 ราย โดยสิ่งที่ กสทช. ดำเนินการมาก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพราะหากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุด ได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้ จึงคาดหวังว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผลและทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้และมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ ฯ กล่าว