กฎเหล็กป่วน “ฟุตบอลโลก” ถอดบทเรียน “อาร์เอส” ถึงกสทช.

12 พ.ย. 2565 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 17:47 น.
1.7 k

ถอดบทเรียน “ฟุตบอลโลก” จากอาร์เอสถึงกสทช. กับ 2 กฎเหล็ก Must Have – Must Carry จำเป็นต้องมีแค่ไหน

ที่สุดแล้วคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาทจากจำนวนเต็ม 1,600 ล้านบาท

 

เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (FIFA World Cup 2022) รอบสุดท้าย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2565 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ตามหลักเกณฑ์ของกฎ Must Have และ Must Carry ของกสทช. ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย

FIFA World Cup 2022

เพราะการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ ไทยต้องจ่ายเงินสูงถึง 42.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น

 

  • เวียดนาม ถือลิขสิทธิ์โดยสถานีโทรทัศน์และวิทยุแห่งชาติเวียดนาม มูลค่า 532 ล้านบาท

 

  • มาเลเซีย ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 261.50 ล้านบาท

 

  • สิงคโปร์ StarHub, Singtel และ Mediacorp ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 948 ล้านบาท  รับชมผ่านสตรีมมิ่ง ราคา 98 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 2,636 บาทต่อ 64 แมตช์ ถ่ายทอดสดแบบ Free-to-Air ใน 9 แมตช์สำคัญทางช่อง Mediacorp

 

  • ฟิลิปปินส์ ถ่ายทอดสดผ่านทาง TAP สามารถรับชมทุกแมตช์ด้วยระบบ Pay-Per-View (PPV) ค่าดูที่ 1,999 เปโซ หรือประมาณ 1,306 บาท

 

ขณะที่กฎ “Must Have” หรือ หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี ซึ่งกสทช.ออกประกาศในปี 2555 เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงเนื้อหารายการโทรทัศน์ได้อย่างทัดเทีมกัน โดยกำหนดให้ 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบไปด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก

 

ดังนั้นผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกี่ยวกับมหกรรมกีฬา 7 ประเภท จะต้องปฏิบัติตามภายใต้สภาพบังคับทางกฎหมาย และต้องแจ้งเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศให้ทราบว่ามีระเบียบนี้ เพื่อไม่ให้มีผลต่อการละเมิดลิขสิทธิ์

กฎเหล็กป่วน “ฟุตบอลโลก” ถอดบทเรียน “อาร์เอส” ถึงกสทช.

กฎเหล็กอีกข้อคือ Must Carry หรือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ที่ออกมาพร้อมกฎ มัสต์แฮฟ (Must Have) โดยบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกราย ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง

 

ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ  โดยไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

แต่กฎเหล็กทั้ง 2 ข้อ ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน

 

ตัวอย่างที่เห็นคือ กรณี “บมจ.อาร์เอส” ที่ซื้อลิขสิทธิ์ 2010 FIFA World Cup South Africa  ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ทั้งจากการขายสปอนเซอร์ และการขายกล่องรับสัญญาณ แต่เมื่อเจอกฎ Must Have และ Must Carry ทำให้ “อาร์เอส” ต้องเปิดให้ฟรีทีวีร่วมถ่ายทอดสดด้วย

กฎเหล็กป่วน “ฟุตบอลโลก” ถอดบทเรียน “อาร์เอส” ถึงกสทช.

แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้อาร์เอสชนะคดีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวีได้ 22 นัด ส่วนที่เหลือ คสช. (ในสมัยนั้น) ให้ช่อง 5 เป็นผู้ถ่ายทอดสด ร่วมกับช่อง 7  แม้ “อาร์เอส” จะเรียกค่าเยียวยาเป็นมูลค่า 700 ล้านบาท แต่กองทุนกทปส. โดยกสทช. ก็จ่ายค่าชดเชยในการเสียโอกาสหารายได้คืนมาเพียง 427 ล้านบาท

 

เป็นเหตุให้ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ออกมากล่าวว่า เงินชดเชย 427 ล้านบาท ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย หากประเมินจากคาดการณ์รายได้ในการขายกล่องบอลโลกและการสมัครสมาชิกรับชมช่องเวิลด์คัพ

 

ขณะที่ “พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ “อาร์เอส” (ตำแหน่งในสมัยนั้น) กล่าวว่า อาร์เอสนำเงินก้อนดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายเยียวยาให้ลูกค้า ซึ่งขายกล่องบอลโลกไปแล้ว 3 แสนกล่อง เป็นมูลค่า 477 ล้านบาท หากลูกค้านำมาคืนทั้งหมด แน่นอนว่าเงินชดเชย จาก กสทช. ไม่พอจ่าย แต่บริษัทต้องรับผิดชอบส่วนเกินทั้งหมด

 

กรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกของ “อาร์เอส”   กลายเป็นบทเรียนสำคัญทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาใดก็ตาม ต้องศึกษาให้ดี รวมไปถึงฟุตบอลโลก 2022 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วัน และคนไทยทั้งประเทศยังต้องลุ้นว่า จะได้ชมและเชียร์หรือไม่

 

ล่าสุด นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ซึ่งเคยเผชิญกับปัญหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ในปี 2014  ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า

 

ก่อนหน้านี้ Laostar โทรมาหา ถามว่าคุณกุ้งซื้อสิทธิบอลโลกมั้ย อยากขอให้เจรจาเผื่อลาวให้ด้วย บอกเค้าไปว่าไม่น่ามีใครซื้อ เพราะมันอยู่ใน must have มาถึงวันนี้เราอาจจะต้องไปเกาะสัญญาณเค้าดู โห ประเทศไทย เรามาไกลมาก น่าสงสารจริงๆ

กฎเหล็กป่วน “ฟุตบอลโลก” ถอดบทเรียน “อาร์เอส” ถึงกสทช.

ขอให้เรื่องบอลโลกเป็นกรณีศึกษาการทำงานของภาครัฐเถอะนะ  ถ้าเงินก้อนนี้ผ่านออกมาจาก กสทช. ได้ ก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อกับประเทศไทย แต่การที่จะเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ดูมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็คงไม่น่าจะได้คุยเรื่องอื่นใน APEC  จะทนกันไหวมั้ยล่ะ นักการเมือง

 

42 ล้านน่ะค่าสิทธิอย่างเดียว ไม่รวมค่าผลิตและส่งสัญญาณ ถ้าไปดูสำนวนที่เราฟ้อง กสทช. ในปี 2014 เราก็อธิบายชัดว่า ทางฟีฟ่าเขาคิดมาให้แล้วว่าที่กำหนดให้ดูฟรี 22 คู่ รวมเปิด ปิด รองชนะเลิศ เราจะมาหาเรื่องบังคับให้ดูฟรี 64 คู่เพื่ออะไร

 

ในอนาคตเวลา regulator จะออกกฎต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่กะจะได้หน้าแล้วไม่ดูว่ามันจะสร้างปัญหาอะไรในอนาคตให้กับประชาชนและประเทศชาติ วันนั้นเราก็บอกแล้วว่าอย่าเอาบอลโลกเข้า Must Have …

 

วันนี้หลายคนมองว่า แม้จะมีกฎ Must Have – Must Carry แต่หากมีการวางแผนการจัดการ การเตรียมการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด ทั้งฟุตบอลโลก ซึ่ง 4 ปีมี 1 ครั้ง เช่นเดียวกับเอเชี่ยนเกมส์ รวมไปถึงซีเกมส์  และอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะบริหารจัดการเรื่องของลิขสิทธิ์ การถ่ายทอด การได้รับชมได้ไม่ยาก  

 

วันนี้ “คนไทย” ยังต้องลุ้นว่าจะได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 แมทซ์หรือไม่ ฟาก “นักธุรกิจ” ก็ลุ้นว่า เมื่อไร กสทช. จะยกเลิกกฎเหล็ก Must Have – Must Carry เพื่อเปิด “เสรีคอนเทนต์”