“ดีอีเอส” โชว์ตัวเลขคนไทย 23 ล้านคนแชร์ข่าวปลอม อายุ 18-24 มือโพสต์เฟคนิวส์

27 ธ.ค. 2564 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2564 | 01:11 น.

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส เปิดสถิติเชิงลึกจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบยอดสะสมจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 23 ล้านคน อายุ 18-24 ปี หัวแถวผู้โพสต์และแชร์ข่าวปลอม ด้านกลุ่มอาชีพที่เข้าข่ายเผยแพร่มากสุด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยถึงสถานการณ์จากการติดตามข่าวสาร และ การสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1%

 

สำหรับกลุ่มอาชีพที่เข้าข่ายเผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8%

 

ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%

 

“ทั้งนี้ เราต้องขอขอบคุณสำนักข่าว และอินฟลูเอนเซอร์หลายราย ที่สนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน และสาธารณะในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง” นายชัยวุฒิกล่าว

 

โดยในรอบปี 64 มีรายชื่อสำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ จส.100 มติชน บางกอกโพสต์  FM91 Trafficpro ข่าวจริงประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจ   News.ch 7  โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ตามลำดับ

 

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 62 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น โดยหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง  หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

 

 

 

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ Trend ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 - 23 ธ.ค. 64 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77% โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น

 

รองลงมาเป็น หมวดหมู่สุขภาพ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87% พบว่าข่าวปลอมสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยคาดการณ์ในอนาคต มีแนวโน้มว่า หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพการรับประทาน การรักษาด้วยตนเองมาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้อีก

 

ขณะที่ หมวดหมู่เศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% พบข่าวบิดเบือน และข่าวปลอมในช่วงที่มีการปรับ เปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ มีแนวโน้มที่จำนวนการพูดถึงเฉลี่ย 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.27% โดยพบข่าวปลอมสูงในบางช่วง ในสถานการณ์วิกฤต ช่วงเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ กระแสข่าวเกี่ยวกับมีผู้ประสบภัยพิบัติของทั้งในและต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตามในปี 2565  ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะมุ่งเน้นกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงเครือข่ายภาคประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ได้จัดกิจกรรมจัดประกวดการผลิตคลิปวีดีโอสั้น เพื่อสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาทีมละ 80,000 บาท เปิดรับผลงาน ช่วง ม.ค. 65 – มี.ค 65 และประกาศผล พ.ค. 65 โดยทุกคลิปวิดีโอที่ได้รับรางวัลจะได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงบนสถานีโทรทัศน์.