net-zero

กฟผ.อัดหมื่นล้าน วางเคเบิ้ลใต้ทะเล แก้ปัญหาไฟตก-ดับเกาะสมุย ดันท่องเที่ยว

    กฟผ.เล็งชงทีโออาร์ประมูลงานวางเคเบิ้ลใต้ทะเลเกาะสมุย ให้บอร์ดไฟเขียว มี.ค.นี้ วงเงินก่อสร้าง 1.12 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ จากภาคท่องเที่ยวที่มีการใช้ปริมาณมากคาดปีนี้พุ่งสู่ 200 เมกะวัตต์ สั่งเตรียมเครื่องปั่นไฟสำรองอีก 10 เมกะวัตต์

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงานและในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร กฟผ. หรือบอร์ด กฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านได้ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล ไปยังบริเวณอำเภอเกาะสมุย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการส่งกำลังไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียงอย่างมีความมั่นคงและเชื่อถือได้ในระยะยาว เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการ วงเงินรวม 11,230 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ร่วมประชุมกับทั้งผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)และพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราชและพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับรายงานว่า ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่เกาะสมุยจะเกิดขึ้นในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดหรือช่วงพีคของวัน

โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ที่เป็นไฮซีซั่น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย และเกาะสมุยเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบนเกาะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดหาไฟฟ้าบนเกาะยังมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการ ซึ่งการมาครั้งนี้ยังได้เผชิญกับปัญหาไฟฟ้าตกและดับ ในโรงแรมที่พักด้วยตัวเองที่เกาะสมุย

ปัจจุบันเกาะสมุย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 178 เมกะวัตต์ โดยการวางสายเคเบิ้ลใต้นํ้าของ กฟภ.ขนาดแรงดัน 115 KV และ 33 KV จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม รวม 4 วงจร และมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก ไม่สามารถส่งจ่ายไฟฟ้าได้เต็มกำลังความสามารถ และเกิดการชำรุดบ่อยครั้ง ไม่เพียงพอต่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะที่เพิ่มขึ้น และทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับนานและเป็นบริเวณกว้างถึง 3 ครั้ง

กฟผ.อัดหมื่นล้าน วางเคเบิ้ลใต้ทะเล แก้ปัญหาไฟตก-ดับเกาะสมุย ดันท่องเที่ยว

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวระหว่างการก่อสร้างโครงการเคเบิ้ลใต้นํ้านั้น มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2568 นี้ จะเพิ่มขึ้นไปถึง 200 เมกะวัตต์ กฟภ.จึงขอความร่วมมือ กฟผ. ที่จะนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ได้ หรือ Mobile Generator ซึ่งใช้นํ้ามันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมาติดตั้งบนเกาะเพิ่มเติม จำนวน 5 เครื่อง ซึ่งจะช่วยเสริมกำลังการผลิตได้อีกประมาณ 10 เมกะวัตต์ และได้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปประสานขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบนเกาะ ให้ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดดีมานด์ลง หรือลงทุนเพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ใช้เอง เป็นต้น

นายธีรวุฒิ เวทะธรรม รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลของกฟผ.นั้น เริ่มมีการศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีมูลค่าโครงการที่รวมสถานีไฟฟ้าและระบบสายเคเบิ้ลใต้นํ้ารวม 11,230 ล้านบาท ถือเป็นเคเบิ้ลใต้นํ้าโครงการแรกของกฟผ. มีขนาดแรงดัน 230 KV สามารถส่งไฟฟ้าได้ราว 200 เมกะวัตต์ มีระยะทางจากจุดบนฝั่งโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงจุดขึ้นเกาะสมุย รวม 48 กิโลเมตร

สำหรับขั้นตอนการก่อสร้างคาดภายในเดือนมีนาคม 2568 จะนำเสนอทีโออาร์ในการประมูลงานก่อสร้างกับบอร์ด กฟผ.อมุมัติเห็นชอบได้ เพื่อนำไปสู่การประมูลก่อสร้างต่อไป ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2568 โดยกำหนดแล้วเสร็จตามแผนวงจรที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2571 และ วงจรที่ 2 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2572 จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าบนเกาะสมุยและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ ปัจจุบัน กฟผ.ได้ทำการจัดซื้อที่ดินราว 10 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้ารองรับไว้แล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อโครงการ จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.0025 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการฯ วงเงินลงทุน 11,230 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 4,969.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 6,260.5 ล้านบาท

มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ 12.13 % มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ณ อัตราคิดลดเท่ากับต้นทุนถัวเฉลี่ย ถ่วงนํ้าหนัก (Weighted Cost of Capital: WACC) 5.51% อยู่ที่ 10,130.7 ล้านบาท