ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือพีดีพีฉบับใหม่ (2567-2580) ยังเป็นที่เฝ้าจับตาของวงการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าว่า จะแล้วเสร็จและประกาศใช้บังคับได้เมื่อใด หลังจากมีความล่าช้ามากว่า 2 ปี แม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาเป็นระยะแล้วก็ตาม ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และการนำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม(ก๊าซธรรมชาติ) ที่สุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัต์ กลับเข้าบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีที่ปรับใหม่ในครั้งนี้ด้วย
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า แผนพีดีพีใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำนี้ ไม่มีการถอดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม(ก๊าซธรรมชาติ) ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคใต้ออกไป เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าฐานและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปี 2579 ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้อยู่ที่ 3,074 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าหลัก 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม ขนาดกำลังผลิต 970 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา กำลังผลิต 1,476 เมกะวัตต์ หรือมีสัดส่วนราว 71%
ส่วนที่เหลือ กำลังการผลิตไฟฟ้าพึ่งได้เป็นบางเวลา หรือไม่มีความเสถียรพอ เช่น จากพลังนํ้า พลังงานงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม โรงไฟฟ้าชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้สูงสุดมีประมาณ 3,143 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเข้ามาช่วยเสริม
ดังนั้น จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนอมส่วนขยายอีก 700 เมกะวัตต์ เข้ามาช่วยรักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ แต่การลงทุนคงเปิดให้เอกชนประมูลแข่งขันเสนอค่าไฟฟ้ากัน ซึ่งเป็นโอกาสของเอ็กโกที่จะเข้าร่วมประมูลแข่งขันด้วย
ปัจจุบันเอ็กโกได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้ดำเนินการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ เสร็จไปแล้วเช่นกัน ประกอบกับการยอมรับของชุมชน ที่ได้มีการสำรวจความคิดเห็นทุกปี ชุมชนจะสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ เป็นการเพิ่มรายได้และการจ้างงาน และมีการจัดสรรเงินให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นำไปพัฒนาชุมชน
นอกจากนี้ ด้วยพื้นที่การก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมปัจจุบัน ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะท่อก๊าซเดิมจากอ่าวไทยมาที่โรงไฟฟ้า มีสถานีไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้า มีแหล่งนํ้าดิบ และท่อส่งนํ้าเดิม มีแหล่งนํ้าสำหรับระบบนํ้าหล่อเย็นที่พร้อมอยู่แล้ว (นํ้าทะเล) มีระบบรับนํ้ามันดีเซลและถังเก็บนํ้ามันดีเซลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำรองอยู่
รวมถึงมี warehouse และ workshop เดิมอยู่แล้ว และมีระบบส่งไฟฟ้าจากของกฟผ. ไป จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สามารถปรับปรุงใช้แนวพาดสายเดิมจากระบบ 230 kV เป็น 500 kV ได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เอ็กโก สามารถแข่งขันราคาค่าไฟฟ้าที่เสนอขายในอัตราที่ตํ่ากว่ารายอื่น ๆ ได้
ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการส่วนขยายโรงไฟฟ้าขนอม 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติราว 105 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบกับการใช้ก๊าซ LNG ที่ 1.03 ล้านตันต่อปี ขณะที่โรงไฟฟ้าขนอมปัจจุบันกำลังผลิต 970 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซฯ อยู่ที่ 141 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบกับการใช้ก๊าซ LNG ที่ 1.40 ล้านตันต่อปี
“จุดเด่นของโรงไฟฟ้าขนอมส่วนขยาย มีจุดเด่น ช่วยรักษาระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมเดิม ไม่ต้องไปหาพื้นที่ใหม่ มีความรวดเร็วในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการยอมรับจากชุมชน ราคาค่าไฟฟ้ามีต้นทุนไม่สูง ราคาแข่งขันได้ และยังช่วยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท.(PTT GSP) ที่ขนอมสามารถเดินเครื่องโรงแยกก๊าซได้เต็มพิกัดตลอดเวลา และมีงบประมาณพัฒนาพื้นที่อำเภอขนอม เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีละ 60 ล้านบาท”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง