บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลการดำเนินงานปี 67 ที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวม (total revenue) เท่ากับ 124,585 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จาก 116,951 ล้านบาท ในปี 66 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) เท่ากับ 18,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จาก 15,644 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทมีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยผลิตที่ 3 และ 4 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมี.ค. และต.ค. 67 ตามลำดับ
ส่งผลให้โรงไฟฟ้า GPD ทั้ง 4 หน่วยเปิดดำเนินการครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (770 เมกะวัตต์) ในเดือนมี.ค. 67
ในขณะเดียวกัน GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากกลุ่ม GJP จำนวน 1,940 ล้านบาท ในปี 67 เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการ โดยมี load factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 72% ในปี 66 เป็น 79% ในปีนี้ เนื่องจากในระหว่างปี 66 กลุ่มโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีการทยอยหยุดซ่อมบำรุง (B-inspection) ตามแผนงาน
ทั้งนี้ ในปี 67 โครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD มีกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา (maintenance expense) ของทั้ง 4 หน่วย ที่เริ่มทยอยซ่อมบำรุงระหว่างไตรมาส 3/66 - ไตรมาส 3/67 แม้ว่าจะมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้น โดยมี load factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 73% ในปี 66 เป็น 75% ในปี 67
นอกจากนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไรที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน จากอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงตามราคาค่า Ft เฉลี่ยที่ลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของราคาค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย โดยค่า Ft เฉลี่ยลดลงจาก 0.89 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 66 เป็น 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 67 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 385.4 บาท/ล้านบีทียู ในปี 66 เป็น 326.1 บาท/ล้านบีทียู ในปีนี้
ประกอบกับขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง เนื่องมาจากความต้องการที่ลดลงในกลุ่มลูกค้ายานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมมีเพียง 6% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทจึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัด
ส่วนของธุรกิจก๊าซนั้น GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากโครงการ PTT NGD จำนวน 1,077 ล้านบาท ในปี 67 เพิ่มขึ้น 172% จาก 396 ล้านบาท ในปี 66 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 428.8 บาท/ล้านบีทียู ในปี 66 เป็น 342.9 บาท/ล้านบีทียู ในปีนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 73.2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปี 66 เป็น 75.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปีนี้ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ ในปี 67 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร core profit จากการลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH จำนวน 6,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จาก 6,101 ล้านบาท ในปี 66 โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ ADVANC ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น จากการมุ่งเน้นจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับการขยายฐานผู้ใช้บริการและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 67 จำนวน 39,934 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับ 35,370 ล้านบาท ในปี 66 ในขณะที่กำไรสุทธิ (net profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในปี 67 เท่ากับ 18,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 14,858 ล้านบาท ในปี 66 ซึ่งเป็นผลมาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่ลดลง
โดยในปี 67 บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 176 ล้านบาท เทียบกับ 576 ล้านบาท ในปี 66 อย่างไรก็ดีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด
ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67 GULF มีสินทรัพย์รวม 496,202 ล้านบาท หนี้สินรวม 342,363 ล้านบาท และ ส่วนของผู้ถือหุ้น 153,840 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net interest-bearing debt to equity) อยู่ที่ 1.80 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.69 เท่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 จากหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 45,000 ล้านบาท ในปี 67
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทอยู่ในกระบวนการการควบรวมกิจการกับ INTUCH ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/68 นี้ โดยบริษัทใหม่ (NewCo) จะมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก NewCo จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นใน ADVANC เป็น 40.44% จากเดิมถือทางอ้อมในสัดส่วน 19.16%
ส่งผลให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทในอนาคต นอกจากนี้ ในปี 68 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้น 20-25%
โดยโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ของบริษัทจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีกประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ในปีนี้ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์
ในส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทมีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD และ HKP ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจาก shipper fee โดยเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซของบริษัทต่อไป
สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 68 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 69
ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปี 68
ในขณะที่ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนเม.ย. ปีนี้ โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในประเทศไทย
ขณะเดียวกันธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2568 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการประมวลผลข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งบริษัทยังมองถึงการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจไปสู่บริการอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโซลูชัน AI และการเสริมความแข็งแกร่งด้าน cybersecurity เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 67 ในอัตรา 1.01 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 83% โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) ในวันที่ 20 ก.พ. 68 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 มี.ค. 68