การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2567 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจไทย มากกว่าความภูมิใจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” Beyond Pride, Towards Sustainability ทั้งหมด 5 รางวัล ประกอบด้วย
สำหรับรางวัลที่สำคัญที่น่าสนใจก็คือ รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ซึ่งมอบให้กับ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ.( PEA) โดยเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถผลักดันองค์กรให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์อย่างมีประสิทธิภาพ
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “ศุภชัย เอกอุ่น” ผู้ว่าการ กฟภ. หรือ PEA ถึงแนวทางการบริหารงาน จนสามารถคว้ารางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น
นายศุภชัย ระบุว่า รางวัลดังกล่าวผู้ที่ได้รับจะต้องแสดงผลงานที่โดดเด่น โดยสามารถนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และทำได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ของ กฟภ. คือการปรับองค์กรไปสู่การเป็นไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน (Smart Energy for Better Life and Sustainability) เช่น การรองรับระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน
โดยจะต้องมีการให้บริการไฟฟ้าในระบบจำหน่ายแบบไม่ติดขัด ไม่เกิดอาการไฟดับ หรือไฟตก ซึ่งหากมีโซลาร์เซลล์ตรงจุดไหน หรือมีสถานีชาร์จอีวีที่ใดจะต้องรับรู้ให้หมด เพื่อบริหารจัดการระบบจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ
การตั้งสถานีชาร์จอีวีนั้น จะเห็นว่า กฟภ. เป็นผู้ที่เริ่มต้นดำเนินการอย่างรวดเร็ว พยายามทำให้มีสถานีชาร์จทุก 100 กิโลเมตรในทุกภาคของประเทศไทย โดยทำให้เป็นศูนย์กลางของอีวี เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจระหว่างเดินทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นค้นหาสถานีชาร์จอีวีที่มีผู้ใช้มากที่สุด และยังช่วยสังคมในการลดคาร์บอนไดออกไซด์
นายศุภชัย บอกอีกว่า กฟภ.ยังมุ่งเป็นองค์กรต้นแบบในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้งานในองค์กร โดยล่าสุดมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่สำนักงาน กฟภ. แล้วกว่า 90% จาก 900 แห่ง คาดว่าจะติดตั้งได้ครบ 100% ภายในปีนี้ เพื่อให้ประชาชน หรือองค์กรมั่นใจว่าหากต้องการจะติดตั้งโซลาร์ใช้งาน กฟภ. สามารถช่วยดูแล ออกแบบติดตั้งได้ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้พลังงานแบบยั่งยืน และลดการปล่อยคาร์บอน
“การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เป็นแนวโน้มในอนาคตของโลก ดังนั้น กฟภ. จะต้องเป็นองค์กรสนับสนุนการลดคาร์บอน โดยที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การวางยุทธศาสตร์ให้ดูสวยหรู หรือเป็นแค่ตัวหนังสือ และทยอยดำเนินการ แต่ต้องทำเลยให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่ง กฟภ. ทำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำตามอำนาจหน้าที่ บทบาทโดยทำองค์กรให้เป็นต้นแบบไว้รอ”
ส่วนแนวทางในการดำเนินการในระยะต่อไปนั้น กฟภ. มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยมีการลงทุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อทำให้ทุกระบบเป็นแบบอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้การให้บริการของ กฟภ. มีประสิทธิภาพ และประชาชนพึงพอใจ
นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า การบริหารองค์กรจะต้องดูวิสัยทัศน์เป็นหลักว่าต้องการให้เป็นไปในรูปแบบใด โดย กฟภ. ต้องการให้มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้ใช้ไฟทั้ง 22 ล้านรายของ กฟภ. รวมถึงทำอย่างไรให้เติบโตไปพร้อมกับผู้ใช้ไฟ ซึ่งจะเป็นการนำองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร หรือผู้นำได้
"กุญแจที่จะไขไปสู่ความสำเร็จคือพนักงานทุกคนจะต้องเห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยมีสโลแกนว่าเป้าหมายมีไว้พุ่งชน ยืดหยุ่นวิธีการ ทำตามวิสัยทัศน์ ซึ่งจะต้องทำทุกอย่างที่ต้นทุนต่ำ แต่ความคุ้มค่าสูง สร้างรายได้ที่ดีให้กับองค์กร และทำทุกอย่างเพื่อองค์กร มี PEA ในหัวใจ"
ด้านคติในการทำงานส่วนตัวนั้น หากสังเกตเวลาที่ตนไปเขียนหนังสือให้กำลังใจพนักงานจะมีข้อความที่ว่า คิดดี ทำดี พูดดี เพื่อตนเองและองค์กร เสมอ และส่วนตัวเองก็ยึดหลักดังกล่าวเพื่อ PEA ซึ่งเมื่อสามารถทำได้สังคม และประเทศชาติก็ได้ไปด้วย