เจาะลึก “บ้านเพื่อคนไทย” จับฉลาก 2 รอบ ชี้ขาดผู้ได้สิทธิ์ทำสัญญา

17 ม.ค. 2568 | 03:30 น.

ครั้งแรกในไทย จับฉลาก 2 รอบ “โครงการบ้านเพื่อคนไทย” เพื่อทำสัญญาและวางเงินจองคอนโด 1.5 ล้าน ผ่อนเริ่มต้น 4,000 บาท/เดือน เริ่มเปิดลงทะเบียนจองสิทธิ์ทาง บ้านเพื่อคนไทย.th 17 ม.ค. 68 

จับตาพิธีเปิดชมห้องตัวอย่าง และจองสิทธิ์โครงการบ้านเพื่อคนไทยเวลา 14.15 น. วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 ที่มี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานพร้อมกับแถลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการ ณ โถงกลางประตู 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ซึ่งสถานที่แถลง คือ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อยู่ในเขตบางซื่อ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับ พื้นที่นำร่องเฟสแรกของโครงการบ้านเพื่อคนไทย ที่ กม.11 เขตบางซื่อ

เป็น 1 ใน  4 แห่ง ที่จะใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการ โดยอีก 3 จุดประกอบด้วย, เชียงราก, สถานีธนบุรี และสถานีเชียงใหม่

แหล่งข่าวระดับสูงจากรัฐบาล เปิดเผยรายละเอียดกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บ้านเพื่อคนไทย เป็นโครงการที่อยู่อาศัยบนที่ดินการรถไฟ หวังแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชน ซึ่งรฟท. ดำเนินโครงการผ่าน บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรฟท. เพื่อบริหารทรัพย์สินและพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ 

ภาพตัวอย่าง โครงการบ้านเพื่อคนไทย

แนวคิดของรัฐบาลคือ ต้องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่และผู้มีรายได้ปานกลาง ให้ผ่อนบ้าน-คอนโดได้ ในราคาประมาณ 4,000 บาท ใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 40,000 ไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันที่ดินส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

"แนวคิดนี้ต่างจากบ้านเอื้ออาทรอย่างชัดเจน เพราะเริ่มจากการมองปัญหาของนักศึกษา คนทำงานที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ที่ต้องเผชิญกับค่าเช่าที่พักราคาแพง ยิ่งค่าเช่าในทำเลดีๆใกล้รถไฟฟ้าที่เขาเดินทางสะดวกยิ่งราคาสูงมากหลายพันบาท เป็นภาระหนักสำหรับเขา" 

สำหรับพื้นที่แรกที่จะดำเนินโครงการ คือ กม. 11 เขตบางซื่อ ซึ่งเป็นที่ดินด้านหลัง ปตท. สำนักงานใหญ่และกระทรวงพลังงาน หรือ ที่รู้จักกันคือซอยเอเนอยี่คอมเพล็กซ์ เป็นที่ของรฟท.ทั้งหมด 45 ไร่ มีบางส่วนเป็นบ้านพักสวัสดิการของการรถไฟ แต่จะใช้เพียงพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทยระยะที่ 1

จะประกอบด้วยอาคารชุด 3 อาคาร แต่ละอาคารมีความสูง 12 ชั้น รวมทั้งหมด 1,080 ยูนิต จากทั้งหมดของโครงการ 100,000 ยูนิต แต่ละยูนิตมีขนาด 30 ตารางเมตร ราคาประมาณ 1.5 ล้านบาท

 

ภาพตัวอย่าง โครงการบ้านเพื่อคนไทย

 

โดยภายในห้องจะมีเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินแบบสมาร์ทโฮม และเครื่องใช้ไฟฟ้าครบชุด ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง โทรทัศน์ขนาด 40 นิ้ว ตู้เย็น เตาไฟฟ้า ไมโครเวฟ และส้วมไฟฟ้า(ชักโครกอัจฉริยะอัตโนมัติ)

พื้นที่ส่วนกลางของโครงการได้รับการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ จะเป็นพื้นที่พาณิชย์ชั้นล่างสำหรับร้านค้าและบริการ พื้นที่ทำงานร่วม (Co-working Space) ห้องออกกำลังกาย สวนพักผ่อน ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ที่จอดรถยนต์และจักรยานยนต์

แหล่งข่าว เล่าต่อไปว่า ในส่วนคุณสมบัติผู้สนใจ “จองสิทธิ์” ต้องมี
มีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และต้องเป็นการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก สามารถ “ลงทะเบียนจองสิทธิ์บ้านเพื่อคนไทย” ทุกทำเลของโครงการได้ ผ่านเว็บไซต์ "บ้านเพื่อคนไทย.th" ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยจำกัดสิทธิ์ 1 เลขบัตรประชาชน ต่อ 1 สิทธิ์เท่านั้น

 

ภาพตัวอย่าง โครงการบ้านเพื่อคนไทย

“ในเว็บไซต์บ้านเพื่อคนไทย.th จะมีให้เลือกว่า คุณต้องการทำเลที่ไหนของโครงการ ต้องการบ้านเดี่ยว คอนโด ขนาดพื้นที่ที่ต้องการเท่าไร เช่น ต้องการ 30 หรือ 50 ตารางเมตรก็เลือกได้เลย ซึ่งเป็นดาต้าสำคัญในการก่อสร้างของโครงการ แต่เลือกได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คาดว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก”

ขั้นตอนต่อไปเมื่อจองสิทธิ์ผ่านบ้านเพื่อคนไทย.th แล้ว SRTA จะมีการประกาศรายชื่อเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้า “จับฉลากครั้งที่ 1” อย่างเปิดเผย เพื่อคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ในทำเลนั้นๆ เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสถานที่กลางในการจับฉลากเพื่อความโปร่งใสและยุติธรรมกับทุกสิทธิ์

ภาพตัวอย่าง โครงการบ้านเพื่อคนไทย

จากนั้นเมื่อผ่านด่านการฉลากครั้งที่ 1 จึงจะได้เข้าสู่การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นผ่านกระบวนการ “pre-approve สินเชื่อ” จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธกส.)  เพื่อเป็นการยืนยันความสามารถทางการเงินในการผ่อนอีกครั้ง เพราะวันที่กดจองสิทธิ์กับวันที่ตรวจ pre-approve จากธอส. คุณสมบัติอาจจะไม่ครบเหมือนเดิมก็ได้

"เมื่อตรวจจาก ธกส.แล้วไม่มีปัญหา จึงจะจับฉลากครั้งที่ 2 เพื่อเลือกห้องพัก เลือกชั้น เพื่อทำสัญญาและวางเงินจอง แต่ถ้าจับฉลากเลือกได้ห้องพักและชั้น ที่ไม่ถูกใจก็สามารถปฏิเสธสละสิทธิ์ได้ แต่ก็จะเป็นสิทธิ์ของผู้ที่อยู่ใน Waiting list หรือ รายชื่อสำรองลำดับถัดไปที่จะได้สิทธิ์จับสลากเลือกแทนทำสัญญาและวางเงินจอง”

ภาพตัวอย่าง โครงการบ้านเพื่อคนไทย

ทั้งนี้การบริหารจัดการและเงื่อนไขการถือครองบ้านเพื่อคนไทยนั้น มีเงื่อนไขสำคัญคือ ห้ามขายต่อภายใน 5 ปี และสัญญาจะเป็น “ทรัพย์อิงสิทธิ์” ที่สามารถสืบทอดให้ทายาทได้

"โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาประหยัดที่มีคุณภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน" แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย