ไตรมาสแรกปี2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว ในทางกลับกัน กำลังซื้อหายไปจากตลาด ความเข้มงวดของสถาบันการเงินนับวันจะเข้มข้นมากขึ้น หลายโครงการมียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงลุกลามไปยังกลุ่มระดับบนกระทั่งต้องนำสินค้า วนกลับมาขายใหม่ มีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งดอกเบี้ยที่แบกไว้ ค่าบริหารจัดการสินทรัพย์ ให้คงสภาพที่ดีอยู่เสมอ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์จูงใจฯลฯ
อย่างไรก็ตามความคาดหวังของผู้ประกอบการต้องการมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนกำลังซื้อยังไม่กลับมา ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และรอดูท่าที ขณะเดียวกัน หลายครอบครัวมีหนี้ครัวเรือนสูง แม้รัฐบาล จะมีนโยบายแก้หนี้แต่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก โดยเฉพาะการยกเลิก LTV (Loan to Value )หรืออัตราส่วนการให้สินเชื่อซื้อบ้านโดยเทียบกับมูลค่า
ที่ภาคเอกชนเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปชั่วคราว เมื่อวันที่11กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะในที่สุดแล้วจะได้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับผลศึกษาของธปท. เช่นเดียวกับข้อเสนอต่อกระทรวงการคลังขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง ที่ภาคเอกชนเสนอไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม แต่เรื่องดูเหมือนจะเงียบไป
นอกจากนี้ความหวังของเอกชนต้องการให้สถาบันการเงินปล่อยเชื่อโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการลดดอกเบี้ยลงตามความเป็นจริง ล่าสุด วันที่18 กุมภาพันธ์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย Ing Shin โดยเผยแพร่อินโฟกราฟิกเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดสงขลา ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินว่า ขอให้ธปท. พิจารณาลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้กับประชาชน และก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการ
ประชุมครม.สัญจร ว่า ได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ดูแลมาตรการทางการคลัง ไปประสานการทำงานกับธปท. อย่างใกล้ชิดซึ่งประจวบเหมาะกับ กนง. มีกำหนดการประชุมนัดแรกของปี 2568 ในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนทางด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2568 ที่ว่าจะขยายตัวประมาณ 2.8 % ต่างจากเป้าหมายของรัฐบาลตั้งเป้าไว้ 3% และพยายามดันให้ไป 3.5% นั้น นางสาวแพทองธารมั่นใจว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลจะขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และธปท. ที่จะทำงานและแก้ปัญหาไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ครั้งสุดท้ายของปี2567 วันที่ 18 ธันวาคม 2567 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี หลังจากมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 25สตางค์เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2567 ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาภาระหนี้บางส่วนของประชาชน
ขณะโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยให้ภาคเอกชนกู้ได้ รวมถึงประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น แต่ ครั้งนี้FED ไม่มีนโยบายลด ดอกเบี้ยนโยบายลงโดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง และต้องดูทิศทางเงินเฟ้อ สะท้อนจากวันที่ 29 มกราคม 2568 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.5% หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้งในการประชุมปี 2567 ที่ผ่านมา
บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงขยายตัวในอัตราที่มั่นคง อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับตํ่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสภาพตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ด้านอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นเล็กน้อยประเมินว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้กนง.อาจยังไม่ปรับลดลงก็เป็นได้ เพราะ FED ไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง
จากการวิเคราะห์ของนาย สุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทยประเมินว่าการการปรับลดลงดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะได้รับการตอบสนอง ถ้า มองเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก แต่ถ้ามองในมุมของธปท.การคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% ยังดีกว่ารีบลดช่วงนี้เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง อาจจะผันผวนเพราะเรื่องสงครามในบางภูมิภาค และเรื่องสงครามการค้า
ธปท.อาจจะอยากเก็บไว้ปรับลดเวลานั้นนอกจากนี้ ในประเทศในเอเซียลดดอกเบี้ยกันไม่มากสะท้อนจากช่วงตั้งแต่ ปี 2566 เป็นต้นมาเมื่อเทียบกับทางสหรัฐฯ แคนาดา ยุโรปฯลฯโดย ไตรมาสแรกของปี2566- มกราคม 2568 มาเลเซีย /เวียดนามไม่ลดดอกเบี้ยโดยอยู่ที่ 3% อินโดนีเซียดอกเบี้ยจาก 6% ลดเหลือ 5.75% ฟิลิปปินส์ดอกเบี้ยจาก 6.5% ลดเหลือ 5.75% เกาหลีใต้จาก 3.5% เหลือ 3% ไทยจาก 2.5% เหลือ 2.25%
เช่นเดียวกับนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า เรื่องการปรับลดดอกเบี้ย แม้ผู้ประกอบการจะเสนอธปท. แต่ต้องพิจารณาประเทศหลักๆด้วย เพราะหากลดอาจมีผลกระทบเงินตราไหลออกจำนวนมากได้
เหนือสิ่งอื่นใดแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นตัวช่วยหรือแม้แต่มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็ตาม แต่หากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ อะไรก็ดูเป็นเรื่องยากเสมอ !!!
หน้า 20 ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568