กูรูอสังหาฯ ชี้มาตรการรัฐไม่ช่วย -ขึ้นค่าแรง -สงครามปะทุ ระเบิดเวลาปี68   

24 พ.ย. 2567 | 09:20 น.

กูรูอสังหาฯ "พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ชี้มาตรการรัฐชุดที่ผ่านมายังไม่ช่วย -ขึ้นค่าแรง400บาท -สงคราม ระเบิดเวลาลูกใหม่ ปี68 ทำต้นทุน น้ำมัน -ขนส่ง -วัสดุก่อสร้างผันผวน ดัน ที่อยู่อาศัย แพง สวนทางกำลังซื้อ สต๊อกบ้าน-คอนโดพุ่ง

 

ความปั่นปวนจากสถานการณ์สงครามที่ปะทุรุนแรง ขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกรอบ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีความกังวลว่าจะก่อให้เกิดความบานปลายไปถึงสงครามโลก แม้ล่าสุดจะได้ตัวว่าที่ผู้นำสหรัฐอเมริกา อย่าง ทรัมป์ แล้วก็ตาม แต่หลายฝ่ายกังวลว่าในที่สุดแล้วจะต้านทานไม่อยู่จนลุกลามกลายเป็นสงครามโลก

ขณะ ความเปราะบางของกำลังซื้อในประเทศที่เกิดจากหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ ที่แม้ไตรมาส3จะดีขึ้น  แต่ในระยะยาวต้องมีความเสถียรและมีแนวโน้มที่ดีตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ จากผลิตผลของมาตรการต่างๆที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผ่านอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่ออกมา ยังไม่ช่วยมากมายนัก  รวมถึงยังมีตัวแปรอื่นที่จะมาก่อกวนอย่างต่อเนื่อง อย่างนโยบายปรับขึ้นค่าแรง400 บาท ชนวน ทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัย ปี2568 เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขายกันอีกรอบ สวนทางกำลังซื้อที่อ่อนแอ และสต๊อกที่อยู่อาศัยพอกพูนจากการปฏิเสธสินเชื่อ

 

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมา ไม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากนัก โดยพิจารณาจากมาตราการชุดที่ผ่านมาสะท้อนได้จากไตรมาส 3 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ และเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง

อย่างไรก็ตาม มาตรการซื้อ-ซ่อม-สร้าง-แต่ง ซึ่งเป็นมาตรการของกระทรวงการคลังผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสมาคมฯได้ประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อขอทราบรายละเอียด แต่เงื่อนไขยังไม่ชัดเจน

ส่วนมาตรการต่ออายุค่าโอน-จดจำนองที่จะหมดลงปลายปีนี้ คาดว่าราวเดือนธันวาคม น่าจะมีการพูดถึงและนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขณะเดียวกันมาตรการอื่นอย่างการแจกเงิน 10,000 สำหรับผู้สูงอายุมองว่าไม่มีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะใช้จ่ายอย่างประหยัด และไม่เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

 

มาตรการรัฐที่ออกมาไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน มองว่าตราบใดถ้าสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ตลาดที่อยู่อาศัยก็จะได้รับผลกระทบ และส่งผลถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาตั้งแต่ชุดแรกทั้งหมดไม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด อีกประเด็นที่น่าจับตา คือการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทของรัฐบาล มองว่าจะซ้ำเติมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 เพราะเป็นต้นทุน แต่จะไปปรับราคาบ้านขึ้นย่อมลำบากเนื่องจากกำลังซื้อไม่มี

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตลาดปี 2568 คาดว่ากำลังซื้อจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการรัฐต่างๆออกมามากแค่ไหน แต่ทั้งนี้ มาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการ คือการผ่อนปรน LTV (Loan to Value) ปล่อยสินเชื่อสำหรับบ้านหลังที่2 ขึ้นไป 100% เหมือนบ้านหลังแรก รวมถึงธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ หากเป็นไปได้เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาดีขึ้นแต่มองว่า คงไม่ง่ายนัก และที่น่าจับตาต่อในปีหน้าที่อาจจะกระทบ เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศและทั่วโลกคือสงคราม