REIC เปิดราคาที่ดิน6 จังหวัด กทม.-ปริมณฑล ราคาพุ่ง นครปฐม บูมสุด ปี68 ขยับอีก

21 พ.ย. 2567 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2567 | 16:54 น.

REIC เปิด ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา 6จังหวัดกทม.-ปริมณฑล นครปฐมบูมสุด ส่งสัญญาณภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์แนวโน้มราคาปรับขึ้นอีกในปี 2568

 

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพ - ปริมณฑล ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบว่า จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา (ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีขนาดที่ดินตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป)ในพื้นที่กรุงเทพ - ปริมณฑลรวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

มีค่าดัชนีเท่ากับ 391.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY)ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา5ปีย้อนหลังในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

 

แม้จะยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19แต่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาซื้อที่ดินสำหรับการลงทุนก่อสร้างโครงการจัดสรรตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากราคาที่ดินในหลายพื้นที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพด้านการลงทุน รวมถึงพื้นที่ปริมณฑลที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาทางหลวงระหว่างเมือง

ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนพัฒนา

อาทิ โซนจังหวัดนครปฐม เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 22.7 โซนอำเภอเมืองปทุมธานีลาดหลุมแก้ว สามโคก จังหวัดปทุมธานี เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 โซนตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ทวีวัฒนา ธนบุรีคลองสาน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 โซนเขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก หรือ กรุงเทพชั้นใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และโซนจังหวัดสมุทรสาคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9

หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังว่า จะขยายตัวมากกว่า 3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อาทิ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ0.01%และการจัดทำสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธอส.ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะเร่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า
เนื่องจากยังเป็นในช่วงเวลาที่ราคาที่ดินชะลอการปรับขึ้นราคาก่อนจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตต่อไป