กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

27 เม.ย. 2566 | 09:30 น.

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี สร้างคาร์บอนเครดิต เพิ่มรายได้-ลดโลกร้อน

ผู้คนทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบของ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Climate change ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน แผ่นดินไหว ทั้งหมดนี้คือสัญญาณเตือน ถึงความสำคัญของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราต้องเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ “โลกร้อน โลกรวน” อย่างไร?

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

“ประเทศไทยภารกิจเร่งด่วนเรื่องการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เราต้องมีการปรับตัว ไม่ง่ายแต่ต้องเรียนรู้ จะต้องเร่งมือให้เร็วขึ้น ที่ผ่านมามีการผลักดัน พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรม Climate Change เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายของโลกและของประเทศภายในปี 2050 เพราะปัญหาโลกร้อน เวลาเกิดไม่ได้เลือกว่าจะเกิดกับใคร กระทบหมดทั่วโลก จึงต้องสร้างจิตสำนึกในกับประชาชน” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว ฟื้นโลกด้วย “ป่าชายเลน” สุดยอดต้นไม้ซับคาร์บอน

 

สิ่งสำคัญที่ช่วยต่อสู้กับโลกร้อนได้ก็คือ “ต้นไม้” เพราะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก ได้ราว 1 ใน 3 ของปริมาณที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี สหประชาชาติระบุว่าตั้งแต่ปี 1990 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 2,625 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เพื่อการทำเกษตรกรรม ดังนั้น การฟื้นฟูป่าไม้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยการปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซค์ได้ ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9 – 15 กิโลกรัม ต่อปี

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

เป็นที่รู้กันแพร่หลายว่า “ป่าชายเลน” หรือที่เรียกกันว่า “ป่าโกงกาง” เพราะเป็นพืชหลักของป่าชายเลน มีระบบนิเวศที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับน้ำเสียจากชุมชนก่อนไหลลงสู่ทะเลได้ ทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่นลม และเป็นแหล่งประมงชายฝั่งที่มนุษย์ใช้หาอยู่หากินหรือใช้เป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ

แต่รู้หรือไม่ว่า ป่าชายเลนมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ เพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าประเภทอื่นๆ โดยช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้กว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่ต่อปีเลยทีเดียว

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ฉายภาพเพื่อย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลย ว่า ประเทศไทยมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ 1.5 ล้านไร่ ความสำคัญของป่าโกงกางนอกจากการซับคาร์บอน ยังแหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำนานาชนิดที่เข้ามาเพาะพันธุ์

“ป่าชายเลนมีการคำนวณล่าสุดดูดซับคาร์บอนได้ถึง 8-9 เท่า กระทรวงฯ จะเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าต่อไป ซึ่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ภาพถ่ายจากดาวเทียม พบว่าป่าโกงกางในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ก็มาจาความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน กระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าจะลงไปทุกจังหวัดเพื่อคุมเรื่องการปล่อยคาร์บอน ตั้งเป้าจะลงไปถึงระดับท้องถิ่น กระทรวงฯ ตื่นตัวมากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 2025 คาดว่าจะเห็นการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ทั้งป่าบกและชายเลน”

"กรม Climate Change" รับมือ "โลกร้อน-โลกรวน"

การจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ขึ้นมาชื่อ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment)” หรือ “กรม Climate Change” เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลกและตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถือเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญ

“ต้องการเห็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกี่ยวกับอนาคตของลูกหลาน ทุกกระทรวงต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน ถามว่าทำไมถึงต้องมีกรม Climate Change ก็เพราะต้องการให้เกิดการบูรณาการ ไม่ได้เพิ่มคน เพียงแค่ปรับองคาพยพ รวมการทำงาน ใช้งบประมาณเดิม แต่เพิ่มภารกิจให้ชัดเจน” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว ทช.เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน สร้างคาร์บอนเครดิต เพิ่มรายได้ ลดโลกร้อน

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

เมื่อหันมามองเรื่องการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองไทยมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามจะขับเคลื่อนในการฟื้นฟูป่าชายเลน โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

หนึ่งในนั้นที่เป็นตัวอย่างให้เห็นเชิงประจักษ์ก็คือ “ป่าในเมืองระยอง” ที่ถือเป็นอัญมณีหนึ่งเดียวของจังหวัด มีความสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนและทรัพยากรทางทะเล มีสะพานถอดยาวล้อมรอบด้วยป่าชายเลน ทางเดินยาว 7 กิโลเมตร ที่อาจจะยาวสุดในโลกก็ว่าได้ อยู่บนพื้นที่ 500 ไร่ ในจำนวนนี้จะถูกนำมาสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“ตอนนี้ในบ้านเราเรื่องคาร์บอนเครดิตถือเป็นวงจรใหญ่กว่าเดิมมาก มีเอกชนหลายแห่งต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะตลาดคาร์บอนเครดิตขายได้ สร้างรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องไปประสานกับกรมป่าไม้ และกรมชายฝั่ง” นายจตุพร ทิ้งท้าย

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

สอดคล้องกับที่ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปีตั้งแต่ปี 2565 จะเพิ่มพื้นที่ป่าใช้เลนในภายใต้โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตจำนวน 300,000 ไร่ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอก คือเปิดโอกาสให้หน่วยงานเอกชนหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมโครงการปลูกป่า อีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนชายฝั่งต่างๆ เครือข่ายอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ดูแลป่าดูแลความอุดมสมบูรณ์

“แผนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ทช. วางเป้า 10 ปีต้องเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 300,000 ไร่ ปี65 ผ่านไปแล้ว ประมาณ 40,000 ไร่ ตอนนี้มีคนจองปลูกป่า 66 ทางกรมกำลังจะประกาศพื้นที่เป้าหมายประมาณช่วงปลายเมษายนหรือพฤษภาคมอีกประมาณ 3-4 หมื่นไร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยในการดูดซับคาร์บอนลดการเรือนกระจกและเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน” นายอภิชัย กล่าว

 

กระทรวงทรัพยากรฯ ลุยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งเป้า 300,000 ไร่ภายใน 10 ปี

 

ประเทศไทยได้ให้คำมั่นเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 โดยเฉพาะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ให้เป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน นำศักยภาพทางด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน