net-zero

Trump Impact? พลังงานสะอาดไทยต้นทุนถูกลง

    ผลกระทบจากนโยบายกลับลำด้านพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงอย่างไม่ขาดสาย สำนักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสีเขียว

ในวิกฤตมักมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ มีข้อดีเกิดขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์หลายประการ โดยเฉพาะนโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะมีส่วนสนับสนุนให้อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตพลังงานสะอาด อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ของจีนมีราคาถูกลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศไทยที่ยังคงเดินหน้าต่อไป

การที่สหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายด้านพลังงานสะอาดและนโยบายที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนโดยนำประเทศออกจากข้อตกลงปารีส และหันกลับมาให้ความสำคัญกับพลังงานแบบดั้งเดิม (Traditional Energy) ที่มาจากฟอสซิล เป็นเรื่องที่สอดรับกับนโยบาย America First ของประธานาธิบดีทรัมป์

หากมองลึกลงไปสหรัฐฯ ต้องการใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทรัพยากรด้านพลังงานทั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนํ้ามันของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนติดอันดับต้น ๆ ของโลกในแง่ของปริมาณสำรอง (มีปริมาณถ่านหินสำรองเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ก๊าซธรรมชาติ และ นํ้ามัน อยู่ในอันดับ 4 และ 9 ตามลำดับ)

Trump Impact? พลังงานสะอาดไทยต้นทุนถูกลง

หากมุ่งเน้นไปด้านการขยายพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน (Clean Energy & Carbonless Economy) สหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว และอาจจะไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มเติมมากเท่ากับการขยายการผลิตพลังงานจากทรัพยากรภายในประเทศ สหรัฐฯ จึงพยายามนำจุดนี้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 “ผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับสหรัฐฯ เอง ข้อดีคือการใช้ถ่านหินมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน กระตุ้นการจ้างงาน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตต่อไป แต่ในทางกลับกัน การที่สหรัฐฯ เปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานอย่างรวดเร็ว ผู้ที่อยู่ระหว่างการลงทุนหรือได้ลงทุนพลังงานสะอาดไปแล้ว จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่านจากนโยบายเดิม (Transitional Cost) ค่อนข้างสูง

และการที่สหรัฐฯ ลดเงินทุนในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ อาจจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความเป็นผู้นำทางด้านนี้ ขณะที่ EU และจีนยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลังงานอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ นโยบายในการหันกลับมาใช้พลังงานฟอสซิลยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก โดยทำให้การปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น และอาจเร่งให้ปัญหาสภาวะโลกรุนแรงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความเสียหายทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดจาก Climate Change ซึ่งในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวมีมูลค่าสูงถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทยแล้ว มองว่าสถานการณ์นี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดจะถูกลง เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานสะอาดจากจีน ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System  :ESS)

 ในขณะที่จีนก็ต้องมองหาตลาด และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในแผนของจีน ผลลัพธ์คือ ไทยมีโอกาสได้รับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ EV และ ESS นอกจากนี้ จีนจะเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยมีกำแพงภาษีที่ค่อนข้างตํ่า

 นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งเสริมการใช้ Carbon Credit และ REC: Renewable Energy Certificate หรือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ยังคงเป็นบวกและมีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากไทยไม่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว เรายังมีตลาดอื่น เช่น ในสหภาพยุโรป (EU) ก็ยังคงยืนยันนโยบายเดินหน้าผลักดันนโยบายเกี่ยวกับ Climate Change ต่อไป

 “ยังมีปัจจัยเชิงบวกที่ส่งเสริมให้เกิด Demand สำหรับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป และเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ได้กำหนดเป็นกลยุทธ์ระยะยาวของแต่ละบริษัทอยู่แล้ว โดยขณะนี้ยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ดังนั้น ตลาดนี้ยังคงมีโอกาสเติบโตอยู่ แม้ว่าภาพรวมอาจจะไม่ได้เติบโตเร็วเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ”

 ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องด้านพลังงานสะอาด และเห็นว่าเราควรเดินหน้าต่อไปเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน

 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดอาจจะมีอุปสรรค ความล่าช้า หรือปัจจัยที่ส่งผลต่อเป้าหมายอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบโดยตรง และสุดท้ายแล้ว ธุรกิจไทยก็ยังให้ความสำคัญกับโซลูชันพลังงานที่คุ้มค่า (Affordability) และมีคุณภาพสูง (Reliability) และเมื่อสามารถรวมองค์ประกอบด้านพลังงานสะอาด (Green Energy) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชันสำหรับผู้ประกอบการไทย ก็จะช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บทความโดย : อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด