KEY
POINTS
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทขนส่ง จำกัด 1 ในรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ยังคงผลักดันแผนการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ตลอดจนสนองนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดหารถโดยสารปรับอากาศพลังงานสะอาด (อีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 1,520 คัน วงเงินลงทุน 15,355.60 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในช่วง มีนาคม 2568 คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างกับเอกชนภายในเดือนเมษายน 2568 และดำเนินการตามสัญญาภายในไตรมาส3 -ไตรมาส 4 ปี 2568
สำหรับแผนจะทยอยส่งมอบรถโดยสารอีวีของขสมก. แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 จำนวน 500 คัน ภายในเดือนตุลาคม 2568 ระยะที่ 2 จำนวน 500 คัน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 และระยะที่ 3 จำนวน 520 คัน ภายในเดือนธันวาคม 2568 คาดว่าจะนำรถโดยสารมาให้บริการได้ภายในปี 2569 ทั้งนี้ตามแผนขับเคลื่อนภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. (BMTA Moving Plan) จะทยอยจัดหารถโดยสารอีวีจนครบ 3,390 คัน ภายในปลายปี 2571 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ขสมก. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) นำมาทดแทนรถโดยสารเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปี จำนวน 1,520 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2568- 2575 ดังนี้ ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 368.400 ล้านบาท
ส่วนปีงบประมาณ 2569 จะขอรับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 2,219.20 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 วงเงิน 2,219.20 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 วงเงิน 2,219.28 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2572 วงเงิน 2,219.20 ล้านบาทปีงบประมาณ 2573 วงเงิน 2,219.20 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2574 วงเงิน 2,219.20 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2575 วงเงิน 1,665.92 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีการจัดหารถโดยสารใหม่เป็นรถปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของ ขสมก.ลงได้มาก โดยเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า และรถใหม่จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงลง ซึ่งตามแผนในปีแรกที่มีรถใหม่เข้ามาให้บริการ สามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ถึง 2,530 ล้านบาท ยังไม่รวมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลทำให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลงด้วย
ด้านรายได้รถโดยสารใหม่ปรับอากาศ ทำให้ขสมก.สามารถจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ 15-20-25 บาทตามระยะทาง ตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง (ขบ.) โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) เป็นศูนย์จากเดิมที่ติดลบตลอด ในปี 2569-2570
ในปัจจุบันผู้โดยสารรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีประมาณ 1 ล้านคนต่อวัน โดย ขสมก.มีสัดส่วนประมาณ 70% ซึ่งในอนาคตที่มีระบบรถไฟฟ้าครอบคลุมทั่วพื้นที่และรัฐบาลมีแนวทางในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคาดว่าจะมีประชาชนหันมาใช้รถโดยสารประจำทางเดินทางมากขึ้น
เช่นเดียวกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่มีแผนจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จำนวน 54 คัน วงเงินลงทุน 368.732 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถมินิบัสไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการเดินรถ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 บขส.ได้ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาเช่ารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าอีวี ขนาดไม่ต่ำกว่า 27 ที่นั่ง จำนวน 54 คัน ระยะเวลา 5 ปี ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) เนื่องจากตามรายงานของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แจ้งว่าไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ จึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บขส.ยังคงเดินหน้าแผนจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคาโดยการเช่า สัญญาจ้าง 5 ปี ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดีตามแผนบขส.จะดำเนินการจัดจ้างพร้อมลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นเอกชนจะเริ่มประกอบรถโดยสารพร้อมตรวจรับรถโดยสารภายในไตรมาสที่ 3-ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2568 เป็นต้นไป