นางสาววัชรา ลี้โกมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท CLP ผู้ผลิตและออกแบบนวัตกรรมด้านการเกษตร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบัน CLP จะเน้นผลิตสินค้านวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบข้าว เครื่องสีข้าว คัดเมล็ดพันธุ์ข้าว และล่าสุดในปี 2568 จะเป็นเครื่องโม่แป้ง หากรวมแล้วจะมีสินค้าประมาณ 20-30 โมเดล รวมถึงแบรนด์ข้าวสีสด (Sisod) ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่เพื่อการกินที่มีสุขภาพดี อุดมสมบูรณ์ทั้งกายและใจ (Well-being)
โดยแบรนด์สีสดจะเน้นผลิตและจำหน่ายสินค้าสดจากเกษตรกร รวมทั้งสินค้าแปรรูปเกรดพรีเมียม เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทั้ง B2B และ B2C ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต ตามแนวคิดที่อยากทำให้คนไทยอยู่ดีมีสุข พร้อมทั้งเป็นตัวกลาง ประสานการสร้างชีวิตแบบยั่งยืนให้แก่คนไทยทุกคน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ข้าวสูตรผสมพิเศษ (Special Blends) ได้แก่ 1. ข้าวหอม 5 สายพันธุ์ (Special Fragrant 5 Blend) จากส่วนผสมของข้าวกล้องที่มีสารอาหารโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวหอมช่อราตรี
2. ข้าวสูตรควบคุมน้ำตาล (Sugar Control Blend) เป็นข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีดัชนีน้ำตาลจะต่ำ 3. ข้าวสูตรควบคุมน้ำหนัก (Weight Control Blend) จะมีข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล สารอาหารเด่นทั้งใยอาหารสูง โปรตีนสูง รวมทั้งน้ำตาลต่ำ 4. ข้าวสูตรบำรุงผิวและความงาม (Beauty Blend) เป็นข้าวหอมปทุมเทพและข้าวหอมมะลิแดง 5. ข้าวสูตรเด็กเล็กเพื่อพัฒนาการ (Children Blend) คือข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมปทุมเทพ เหมาะสำหรับเด็กเล็ก
ถัดมาเป็นกลุ่มข้าว (Single Origin) ได้แก่ 1. ข้าวหอมมะลิ 105 ออแกนิค 2. ข้าวสังข์หยด 3. ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มข้าวเปลือก (Paddy Rice) ที่เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 และข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่
ทั้งนี้ รายได้หลักของกลุ่มบริษัท CLP ยังคงมาจากส่วนของอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งได้ลงนามข้อตกลง (MOU) ใช้เทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับญี่ปุ่น 4 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Taiwa : TAKAI RYOICHI : ทาคาอิ เรียวอิจิ, Kaneko : KANEKO SHIGEO : คาเนโกะ ชิเกโอะ, Skymill : HOSONO YASUHIRO : โฮโซโนะ ยาสุฮิโระ และ Kantoh : GUNJI YUICHI : กุนจิ ยูอิจิ จากการ MOU ทำให้ CLP เป็นผู้นำตลาดอยู่ในระดับกลางของไทยในปัจจุบัน สำหรับเครื่องมือผลิตข้าว 100 กิโลกรัม - 1 ตัน โดยมีคู่แข่งในตลาดจะไม่สูงมากนัก ต่างจากเครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับโรงสี ที่รองรับปริมาณข้าวตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป และขนาดเล็กที่ใช้ในครัวเรือนราคาไม่เกิน 2 หมื่นบาท
นางสาววัชรา กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการเกษตรได้รับความสนใจมากขึ้น หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าเกษตรหลากหลายรูปแบบ CLP ก็เช่นเดียวกัน มีอัตราการเติบโตของยอดขายสินค้าและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจด้านการเกษตรเติบโตคือ เทรนด์ของผู้คนที่หันมาให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนับตั้งแต่หลังเกิดโควิด-19
ดังนั้น แผนงานของ CLP ในปี 2568 จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมการผลิตและบริโภคข้าวในประเทศมากขึ้น โดยตั้งเป้าการเติบโตของไว้ 300% จากปี 2567 สำหรับกลุ่มเครื่องมือการเกษตร ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ พร้อมขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและฝั่งแอฟริกา ถือเป็นโอกาสของ CLP เพราะด้วยภาวะเศษฐกิจและสงครามในปัจจุบัน หลายประเทศกำลังสร้าง Supply Chain ด้านอาหาร
“ตอนนี้กลุ่มลูกค้าในธุรกิจของ CLP เป็นคนไทย 80% ต่างชาติ 20% ในปี 2568 เราคาดหวังว่าหากดำเนินตามแผนงานที่วางไว้ได้ สัดส่วนของกลุ่มลูกค้าคนไทยและต่างชาติน่าจะอยู่ 50:50 ถือเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาว โดยธุรกิจเกษตรยังมีประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของ CLP เพราะเป็นตลาดใหญ่”
อย่างไรก็ตาม สินค้าการเกษตรหรือธุรกิจการเกษตรยังถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรในประเทศไทยยังคงมีโอกาส แต่ต้องได้รับการผลักดันที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ แต่หากมองในมุมกวางด้านการส่งออกอาจจะยากขึ้น ซึ่งในภูมิภาคเดียวกันประเทศไทยจะต้องระวังเวียดนามที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสินค้าการเกษตรของไทยกับเวียดนามถือว่าใกล้เคียงกัน อย่างเรื่องข้าวที่เวียดนามสามารถล้มแชมป์ไทยได้แล้ว ขณะที่ไทยกลับเริ่มล้าหลัง ตามไม่ทัน แม้จะสู้เรื่องแบรนดิ้งได้แต่อาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน