กระทรวงอุตฯ ปลื้ม เอสเอ็มอี ยื่นคำขอสินเชื่อ จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท เล็งขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม

12 ก.พ. 2565 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 22:57 น.

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม เอสเอ็มอี ยื่นคำขอสินเชื่อ จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท เล็งขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) เปิดเผยว่าภายหลังจากสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดให้เอสเอ็มอีที่สนใจยื่นขอรับบริการ 3 โครงการสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้มีเอสเอ็มอีให้ความสนใจและยื่นคำขอเป็นจำนวนมากรวมความต้องการเงินสินเชื่อจำนวนกว่า 8 พันล้านบาท จำนวนเอสเอ็มอียื่นความประสงค์ทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,100 กิจการ ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจทั้งการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม เอสเอ็มอี ยื่นคำขอสินเชื่อ จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท เล็งขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวเพิ่มเติม ตั้งแต่วันเริ่มเปิดรับคำขอสินเชื่อทั้ง 3 โครงการสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ ผลปรากฎว่ามีจำนวนเอสเอ็มอีที่ให้ความสนใจและยื่นคำขอสินเชื่อต่อวันจำนวนไม่น้อยกว่า 100 กิจการ วงเงินความต้องการต่อวันไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยโครงการสินเชื่อที่เอสเอ็มอีให้ความสนใจและยื่นคำขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก คือ โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสเสริมสภาพคล่อง SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจยื่นคำขอสินเชื่อจำนวนกว่า 1,300 กิจการ จาก 8 กลุ่มธุรกิจ คือ (1) กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (2) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (3) กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (4) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (5) กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (6) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก (7) กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ (8) กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

กระทรวงอุตฯ ปลื้ม เอสเอ็มอี ยื่นคำขอสินเชื่อ จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท เล็งขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม

รองลงมา คือ โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน โดยกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจ BCG อาทิ เกษตรอุตสาหกรรมหรืออาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเครื่องมือหรือบริการทางการแพทย์ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจยื่นคำขอสินเชื่อจำนวนกว่า 500 กิจการ

และโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SME วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจยื่นคำขอสินเชื่อจำนวนกว่า 300 กิจการ

นายเดชา กล่าวต่อไปว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (กอป.) มอบหมายให้ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขอขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม ภายในเดือนมีนาคม 2565 โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะได้เสนอขอขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี