“เพื่อไทย”ร้าวหนัก บารมี“ทักษิณ” ไม่เหมือนเดิม

01 พ.ค. 2567 | 08:30 น.
4.4 k

“เพื่อไทย”ร้าวหนัก บารมี“ทักษิณ” ไม่เหมือนเดิม : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3988 โดย...ทีมข่าวการเมือง

KEY

POINTS

 

 

  • ผลพวงจากการ ปรับ ครม. เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด “อาฟเตอร์ช็อก” สร้างรอยร้าวตามมาภายใน พรรคเพื่อไทย อย่างหนัก   

 

  • กลุ่มคนที่ได้ดี สมหวังในตำแหน่งรัฐมนตรี ล้วนใกล้ชิด เป็นเด็กของนายกฯ-นายใหญ่-นายหญิง

 

  • บรรดาคนที่มาจากฐานเสียง ส.ส. และคนที่ทำงานการเมืองให้กับพรรค ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากการปรับ ครม.ครั้งนี้
     

 

ผลพวงจากการ ปรับ ครม. จาก “ครม.เศรษฐา 1” สู่ “ครม.เศรษฐา 2” เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด “อาฟเตอร์ช็อก” สร้างรอยร้าวตามมาภายใน พรรคเพื่อไทย อย่างหนัก   

เพราะการปรับ ครม.ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้มีทั้งคนที่ “สมหวัง” และ “อกหัก”

คนที่ “สมหวัง” ประกอบด้วย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เดิมดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เก้าอี้เดียว แต่ได้รับการสมนาคุณ ให้เป็นรองนายกฯ อีกเก้าอี้หนึ่ง สมศักดิ์ เทพสุทิน จากรองนายกฯ ได้ไปนั่ง รมว.สาธารณสุข

พิชัย ชุณหวชิร ได้เป็นรองนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.คลัง, จักรพงษ์ แสงมณี จากรมช.ต่างประเทศ ขึ้นเป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ , พิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ, จิราพร สินธุ์ไพร เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรมช.คลัง

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช โยกจากรมว.วัฒนธรรม เป็น รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ขณะที่ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ถูกลดเกรดเป็น รมว.วัฒนธรรม  

คลื่นใต้น้ำเพื่อไทย

ขณะที่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร หลังถูกปลดออกจากตำแหน่งรองนายกฯ เหลือเพียง รมว.ต่างประเทศ ตำแหน่งเดียว เจ้าตัวไม่พอใจ ประกาศ “ลาออกทันที” 

ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาขอโทษ ปานปรีย์ ดังที่ระบุว่า “ผมส่ง message ไปหาท่าน ในกรุ๊ปที่เกี่ยวกับต่างประเทศว่า ผมขอโทษ ถ้าผมทำให้พี่ไม่สบายใจเรื่องอะไร และก็ขอขอบคุณที่ช่วยงานกันมา” 

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย หลังการ ปรับ ครม. ได้ก่อให้เกิด “คลื่นใต้น้ำ” ที่รอวันปะทุ ด้วยมูลเหตุ 7 ประกาศ ดังนี้  

1.เกิดกลุ่ม ส.ส.ไม่พอใจการปรับ ครม.ที่ไม่เป็นธรรม, 2.อาจทำให้มีปัญหาในการดูแลพื้นที่, 3.เป็นการตอบแทนกลุ่มใกล้ชิด คนใกล้ตัว, 4. ไม่ตอบโจทย์การทำงานเชิงรุก, 5.ต่างตอบแทน “2 ส.” ที่เคยทิ้งพรรค มากเกินควร, 6. ฆ่าขุนพลที่เคยร่วมสู้กันมานาน และ 7. กลุ่มที่ไม่พอใจ เศรษฐา ทวีสิน รอโอกาสเอาคืน 

                          “เพื่อไทย”ร้าวหนัก บารมี“ทักษิณ” ไม่เหมือนเดิม

กลุ่มสมหวัง

สภาพของปัญหาของเพื่อไทย เกิดมาจาก กรณีการแต่งตั้ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกฯ และรมว.คมนาคม ที่เข้ามาดูแล ส.ส.เพื่อไทย ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ทั้งที่เคยมีข้อหาหักหลัง “เพื่อไทย” ในการเลือกตั้งปี 2562 และยังเป็นแผลฝังในใจ “คนเพื่อไทย-คนเสื้อแดง” แต่กลับมาได้ เพราะความสนิทชิดเชื้อกับทั้งเจ้าของพรรค และ นายกฯ คนใหม่ 

กรณีของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ได้ลุกจากรองนายกฯ ไปนั่ง รมว.สาธารณสุข ถือเป็นเป็นกระทรวงที่มีอำนาจ ภาษีดีกว่านั่งรองนายกฯ แต่ทำให้กลุ่ม ส.ส.ไม่พอใจ ทั้ง สุริยะ และ สมศักดิ์ ที่กลับมาใหญ่โตเกินหน้าเกินตา

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ รมว.คลัง ได้แรงหนุนจาก “อดีตนายกฯหญิง-นายกฯเศรษฐา” รวมถึง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ทำให้มีชื่อมาแรงตั้งแต่ต้น

ส่วน พิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทนายความ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ถือเป็นสายตรงอดีตนายกฯหญิง แม้มีแรงต้านอย่างหนักจากสังคมภายนอก

จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกฯ สายตรงของ นายกฯเศรษฐา ที่โยกมาจาก รมช.ต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่มีบทบาทภายในพรรค ทำให้เกิดแรงต้านค่อนข้างสูง

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด 2 สมัย ได้รับแต่งตั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ  

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นศิษย์เอกของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เมื่อเป็นเด็กมีนาย จึงทำให้มี ส.ส.ไม่พอใจ

ส่วน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ว่ากันว่าได้รับแรงผลักดันจากบุตรชาย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ  ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร 

กลุ่มอกหัก

ส่วนกลุ่มที่ “อกหัก” จากการปรับ ครม.นั้น ล้วนมาจากฐาน ส.ส. รายแรกคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ส.ส.น่าน  6 สมัย ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย จนมาถึงเพื่อไทย

ไชยา พรหมา อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.หนองบัวลำภู 9 สมัย แต่ผลงานกระทรวงเกษตรฯ ถูก “เจ้ากระทรวง” กลบหมด 

พวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ หัวหน้าทีม กทม. แม้พรรคเพื่อไทย จะพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งกทม. ได้ ส.ส.เพียง 1 ที่นั่ง คือที่ เขตลาดกระบัง แต่ “เจ๊แจ๋น” ทำงานให้พรรคมานาน หากจะปรับออก คนเข้าใหม่ก็ควรเป็นคนจาก “ทีม กทม.” 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ถูกลดเกรดให้ไปนั่ง รมว.วัฒนธรรม น่าจับตาว่าจะกระทบต่อการทำงานในพื้นที่เลือกตั้ง ที่มีบิดา “วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” คอยพลักดันอยู่เบื้องหลังหรือไม่  

นอกจากนั้น ในพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทย โดย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เคยนำทัพไปหาเสียงอ้อนขอให้เลือกเพื่อไทยแบบ “แลนด์สไลด์” ยกจังหวัด ซึ่งก็ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาเป็นกอบเป็นกำในหลายจังหวัด ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้มี “รัฐมนตรี” แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น กาฬสินธ์ ส.ส. 4 คน, ขอนแก่น 6 คน, เชียงราย 4 ราย, ศรีสะเกษ 7 คน, สกลนคร 5 คน

นอกจากบรรดาคนที่มีฐานเสียงมาจาก ส.ส. จะถูกลดบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว คนที่ทำงานให้กับพรรคมาอย่างยาวนาน ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ว่าจะเป็น ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ นพพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีตรมว.ต่างประเทศ

ทำให้เห็นว่า คนที่ทำงานการเมืองให้กับพรรค ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากการปรับ ครม.ครั้งนี้ 

นอกจากนั้น แรงกระเพื่อมจากการ ปรับ ครม. ก็เกิดจากบารมีทางการเมืองของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่ยังมีไม่มากพอ แม้ “นายใหญ่-นายหญิง” คอยเป็นตัวเชื่อม เพื่อสมานรอยร้าว แต่ก็มีที่ทีมงานหลังบ้านของ “นายใหญ่-นายหญิง” ชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทบการทำงานภาพใหญ่

ขณะเดียวกัน เศรษฐา ก็ยังเผชิญกับความไม่พอใจจาก ส.ส. หลายสาย ที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย ที่รอ นายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือแม้แต่ “นายหญิง” ผู้มีอำนาจตัวจริง แก้ปัญหา ก่อนที่จะทำให้กระแสของพรรคตกต่ำไปกว่านี้