ก้าวไกลค้านปรับ"เบี้ยผู้สูงอายุ" ลั่นไม่ใช่สังคมสงเคราะห์พิสูจน์ความจน

14 ส.ค. 2566 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2566 | 13:02 น.

ก้าวไกลค้านปรับ"เบี้ยผู้สูงอายุ" ลั่นไม่ใช่สังคมสงเคราะห์พิสูจน์ความจน ระบุไม่ควรทำในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เป็นอย่างยิ่ง ชี้ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคงต้องเร่งทบทวนเรื่องนี้

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า เรื่องนี้ทางพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย เพราะสวัสดิการควรจะเป็นสิทธิ์ของทุกคน ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องมาพิสูจน์ความจน 

ทั้งนี้ การปรับนโยบายเรื่องสวัสดิการที่เป็นเรื่องใหญ่กระทบกับคนจำนวนมาก ไม่ควรทำในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เป็นอย่างยิ่ง ตนคิดว่าเมื่อรัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะต้องเร่งทบทวนเรื่องนี้
 

อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า นโยบายสวัสดิการควรจะถ้วนหน้า การมีสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้เป็นการเอาเงินไปให้คนรวย ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ชัดเจนว่าสวัสดิการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวส่วนใหญ่ คือคนที่มีฐานะปานกลางและยากจน 

ดังนั้นหลายคนอาจจะไม่เข้าใจ มองว่าการให้สวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่แยกแยะว่าใครรวยหรือจน จะทำให้ใช้ภาษีของประชาชนโดยสิ้นเปลือง แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่ผ่านมาการพิสูจน์ความจนนั้นมีปัญหาเยอะ เพราะมีคนตกหล่นจากการพิสูจน์ความจนอยู่ไม่น้อย

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย เริ่มถูกกระแสกดดันจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอให้จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีก่อนโหวตนายก รวมถึงปัญหาเรื่องของตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่น่าลำบากของพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น มองว่าการจัดแบ่งตำแหน่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเรื่องปกติ ในการจัดตั้งรัฐบาล ในทางปฏิบัติก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องทำควบคู่กันไป ก็มองด้วยความเป็นห่วงว่าการจัดตั้งรัฐบาลในสถานการณ์แบบนี้ น่าจะถูกเข้ามากำกับควบคุมโดยขั้วอำนาจเดิมมาก เป็นสิ่งที่น่าจะปฏิเสธด้วยยาก

ด้านคำถามที่ว่าพรรคก้าวไกลต้องการให้กลับมาเป็น 312 เสียงเหมือนเดิมหรือไม่ นายชัยธวัช ระบุว่า คงเป็นการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้พรรคก้าวไกลอยู่ในโหมดเตรียมตัวทำงานไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ก็ใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมงานภายในพรรค พัฒนาศักยภาพความพร้อมในการทำงานของ สส.ใหม่