เปิดอำนาจรัฐบาลรักษาการ หลังยุบสภา ทำอะไรได้-ไม่ได้  

22 ก.พ. 2566 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2566 | 16:14 น.

เช็คอำนาจรัฐบาลรักษาการ ทำอะไรได้-ไม่ได้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเตรียมประกาศยุบสภา พร้อมเลือกตั้ง ส.ส. 7 พฤษภาคม 2566

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า เตรียมประกาศยุบสภาต้นเดือนมีนาคมนี้ และคนไทยจะได้เลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นี้ซึ่งในช่วงเวลาหลายเดือนนับจากนั้นรัฐบาลยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 

สำหรับอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการหลังนายกฯประกาศยุบสภาแล้วนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.ที่ผ่านมา นายวิษณุ รองนายกฯ ได้ชี้แจงให้ครม.รับทราบถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการไว้ ดังนี้

จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงอยู่รักษาการอยู่ซึ่งหากมีความจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลสามารถที่จะออก พ.ร.ก.ระหว่างนี้ได้ ส่วนเรื่องของ พ.ร.ฎ.ที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงต่าง ๆ นั้นก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

ในส่วนของข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้และจะพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับที่ ครม.ชุดรักษาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมี ครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิณาณตนแล้ว

กรณีที่มีรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ครม.ยังสามารถประชุมได้โดยนายกฯ มีอำนาจในการปรับครม.หากมีความจำเป็น ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้ 

1.ไม่อนุมัติงาน โครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว 

2.ไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือ มีการให้พ้นจากตำแหน่งเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. 

3.ไม่อนุมัติการใช้งบกลางเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. 

4.ไม่ใช้ทรัพยากร หรือ บุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. อาทิ

  • ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
  • ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะที่จะเป็นการแจกจ่ายให้กับประชาชน
  • ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ
  • ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร เป็นต้น 

ขณะที่ในส่วนของวุฒิสภานั้นจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปแต่จะประชุมไม่ได้ยกเว้นจะเป็นการพิจารณาตั้งองค์กรอิสระที่สามารถดำเนินการได้

สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ทั้ง 2 สภาซึ่งจนถึงเวลานี้ค้างอยู่ประมาณ 29 ฉบับนั้นจะตกไปในทันทีแต่หลังการเลือกตั้งหากรัฐบาลชุดใหม่ต้องการนำกลับมาพิจารณาก็สามารถดำเนินการได้แต่จะต้องยกขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่เสด็จเปิดประชุมสภาฯชุดใหม่แล้ว