รับฝนไหว กรมชลฯ เผย เขื่อนขนาดใหญ่และกลางยังรับน้ำได้อีก23,500 ล้านลบ.ม

19 ก.ย. 2565 | 19:46 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 06:47 น.

กรมชลฯ เตรียมแผนรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากจากแนวร่องมรสุม ทั้งการพร่องน้ำ-ติดตามสถานการณ์น้ำ-กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่และกลางยังรับน้ำได้อีกกว่า 23,500 ล้านลบ.ม

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เเจ้งเตือนช่วงนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านจากทางภาคเหนือตอนล่าง ผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งแนวร่องมรสุมจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งนั้นกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการตาม 13 มาตรการของกอนช. และ 10 มาตราการ อาทิ การพร่องน้ำ การติดตามสถานการณ์น้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น

 

ซึ่งจากสถานการณ์น้ำปัจจุบันทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 52,500 ล้านลบ.ม หรือ คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่านรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 23,500 ล้านลบ.ม

 

ขณะที่ปริมาณเก็บกักน้ำที่เขื่อนทางภาคเหนือขณะนี้มีอยู่ร้อยละ 63 ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 9,400 ล้านลบ.ม ถือว่าหากมีมรสุมพาดผ่านเข้ามา สามารถรองรับน้ำฝนได้

 

ส่วนสถานการณ์น้ำท่าที่ ลำน้ำสายหลัก ทั้งปิง วัง ยม น่าน มีเเนวโน้มสูงขึ้นที่แม่น้ำวัง และแม่น้ำชี-มูล ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท้ายเขื่อนกว่า 22 จังหวัด ที่สถานีวัดน้ำ P17 อ.สรรพยา จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มสูงขึ้น ที่มีอัตราการระบายน้ำที่593 ลบ.ม /วินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำN67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ที่มีอัตราการระบายน้ำที่1,118 ลบ.ม /วินาที มีแนวโน้มลดลง และที่สถานีวัดน้ำC2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,021 ลบ.ม/วินาที

ยืนยันกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้วันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,989 ลบ.ม/วินาที จึงส่งผลให้พื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ,จ.ปทุมธานี,จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้รับผลกระทบดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากมีการเปิดการระบายน้ำเพิ่มเติม จะเเจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนท้ายเขื่อน และหากพื้นที่การเกษตร ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมขัง สามารถเเจ้งได้ที่กรมชลประทานใกล้บ้านหรือโทร 1460