อธิบดีกรมชลลงพื้นที่ จี้เร่งซ่อมอ่างเก็บน้ำลำตะโคง บุรีรัมย์

28 ส.ค. 2565 | 19:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 02:16 น.

“ประพิศ “อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เร่งติดตามงานซ่อมแซมทำนบดินอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกน้ำกัดเซาะ ล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน (28 ส.ค.65) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายสมศักดิ์ ธิมา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้างานซ่อมแซมถมปิดทำนบดิน บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ หลังถูกน้ำกัดเซาะบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวาได้รับความเสียหาย

 

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังลงพื้นที่ ว่า อ่างเก็บน้ำลำตะโคง ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 7.53 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ทำให้เกิดการกัดเซาะของน้ำบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา จนเกิดการทะลุออกทำนบดินด้านท้าย ซึ่

 

ทั้งนี้น้ำได้กัดเซาะบริเวณฐานรากใต้พื้นอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา ทำให้ตัวฝาย  และกำแพงด้านข้างฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำล้นดังกล่าว เกิดการชำรุดเสียหาย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่าน โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้ทำการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ด้านท้าย ที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมกับลดระดับน้ำในอ่างฯ โดยการระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำ (Gate Spillway)

 

อธิบดีกรมชลลงพื้นที่ จี้เร่งซ่อมอ่างเก็บน้ำลำตะโคง บุรีรัมย์

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการถมปิดบริเวณทำนบดินดังกล่าวด้วยกระสอบทราย (Big bag)  พร้อมกล่องลวดตาข่ายบรรจุหิน (Gabion) เพื่อลดชะลอความแรงของน้ำ และลดการกัดเซาะของน้ำที่กระทำต่อตัวเขื่อน

 

อธิบดีกรมชลลงพื้นที่ จี้เร่งซ่อมอ่างเก็บน้ำลำตะโคง บุรีรัมย์

 

โครงการชลประทานบุรีรัมย์ และสำนักเครื่องจักรกล ได้เพิ่ม จำนวนเครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุในการแก้ไขปัญหา อาทิ รถบรรทุก รถแบคโฮ ทราย และหินใหญ่ เพื่อก่อสร้างทำนบชั่วคราว จนสามารถปิดกั้นน้ำได้ ตั้งแต่วันนี้(28 ส.ค. 65) พร้อมกับนำกล่องลวดตาข่ายบรรจุหิน(Gabion) มาเสริมความแข็งแรง เพื่อโอบล้อมบริเวณอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) ที่ชำรุดเสียหายและบริเวณตัวทำนบดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น สำหรับเก็บกักน้ำบางส่วนไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ซึ่งปริมาณน้ำในอ่างฯ ได้ลดลงเหลือประมาณ 3.04 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% ของความจุ มีการระบายน้ำลงสู่ลำตะโคงในอัตรา 167 ลบ.ม./วินาที(ลำตะโคงรับน้ำได้สูงสุด 300 ลบ.ม./วินาที) แนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำยังอยู่ในลำน้ำ ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน

 

อธิบดีกรมชลลงพื้นที่ จี้เร่งซ่อมอ่างเก็บน้ำลำตะโคง บุรีรัมย์

 

ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำ บริเวณบ้านตลาด บ้านดงยายเภา ตำบลนิคม อำเภอสตึก และบ้านปอแดง บ้านโนนสำราญ บ้านตะแบง ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง ที่ถูกน้ำท่วมขังประมาณ 1,100 ไร่ ปัจจุบันหลายแห่งระดับน้ำลดลงแล้ว ส่วนพื้นที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ โครงการชลประทานบุรีรัมย์ จะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าปริมาณน้ำที่ระบายออกจากอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จะลดลงโดยลำดับในระยะต่อไป

 

อธิบดีกรมชลลงพื้นที่ จี้เร่งซ่อมอ่างเก็บน้ำลำตะโคง บุรีรัมย์

 

ทั้งนี้อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 8 และสำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินที่ชำรุดให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมหาแนวทางในการซ่อมแซมให้มีความมั่นคงถาวรต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ส่งการให้นำสะพานแบรี่มาติดตั้งบริเวณทำนบดินที่เป็นช่องขาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สัญจรตามปกติ