นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สืบเนื่องจากการประชุมกับนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการที่เข้มข้นในเรื่อง เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 จึงได้ลงนามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) นับเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ
"สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจาก การเผาในพื้นที่เกษตร ทำให้เกิดควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มากขึ้น เกิดเป็นมลพิษในอากาศ ที่กระจายตัวในวงกว้าง ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจุบันเพื่อให้การดำเนินงานบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ภาคการเกษตร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เห็นชอบให้ ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องยกระดับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 ด้านการเกษตร ที่เกิดจากการเผา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการบริหาร จัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร"
ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“โครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร” หมายความว่า มาตรการ โครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินงานอื่นใดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานในสังกัดจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ ยกเว้นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร
“หน่วยงาน” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ในสังกัด และภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“การเผาในพื้นที่การเกษตร” หมายความว่า การเผาที่เกิดจากการกระทำของเกษตรกร หรือใช้ หรือก่อให้ผู้อื่นเผาในพื้นที่การเกษตรของตน หรือพื้นที่การเกษตรที่เกษตรกรมีสิทธิครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2570
ข้อ 4 ในการจัดทำโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ให้หน่วยงานกำหนด คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรจะต้องไม่มีประวัติทำการเผาในพื้นที่การเกษตร
ข้อ 5 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) ในพื้นที่การเกษตรให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของเกษตรกรที่ทำการเผาในพื้นที่ ดังกล่าว โดยประสานขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการหมู่บ้านให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การเผาดังกล่าว แล้วแจ้งผลการตรวจสอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ 6 ให้หน่วยงานที่มีการดำเนินโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรกำหนด คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยต้องไม่เป็นผู้ที่มีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตรตามประกาศนี้ หากพบว่าเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการมีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้ถือว่าขาดคุณสมบัติ การเข้าร่วมโครงการนั้น และให้หน่วยงานแจ้งผลการพิจารณาให้เกษตรกรรายดังกล่าวทราบด้วย
ข้อ 7 ในกรณีเกษตรกรรายใดมีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตร เกษตรกรรายนั้นจะไม่ได้ รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรทุกโครงการ โดยเป็นการขาดคุณสมบัติ ในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2570
นายอิทธิ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำก็ต้องการให้คนไทยมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ และอีกด้านหนึ่งทางนโยบายก็อยากเห็นว่าทางกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการอะไรออกมาบ้าง ดังนั้นหากใครมีประวัติการเผาพื้นที่การเกษตรให้ถือว่าขาดคุณสมบัติในการ "รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท" ทันที
ด้าน กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร แจ้งเตือนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศลงวันที่ 17 มกราคม 2568 เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( pm 2.5) ภาคการเกษตร การเผาในพื้นที่เกษตรในช่วงวันที่ 17 มกราคม 2568 ถึง 31 พฤษภาคม 2568 เมื่อมีการตรวจสอบ เกษตรกรจะถูกบันทึกเป็นผู้มีประวัติการเผาโครงการภาครัฐที่มีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร จะถูกกำหนดให้เกษตรกรที่มีประวัติการเผา ไม่สามารถเข้าร่วมได้ หรือขาดคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 - 31 พฤษภาคม 2570 (เป็นเวลา 2 ปี) มาตรการเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567เป็นการยกระดับการป้องกันเนื่องจากยังมีการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งผลต่อการเกิดมลพิษถึงเวลาที่ต้องร่วมกันรณรงค์ไม่เผาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ ไม่สร้างมลพิษ ไม่ทำลายดิน และเกิดผลดีต่อเนื่องต่อตัวของเกษตรกรเอง
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครสวรรค์ ด่วน แจ้งเตือนพี่น้องเกษตรกรนครสวรรค์ กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศ "ผู้ที่มีประวัติการเผา พื้นที่การเกษตร" ระหว่าง 17 ม.ค. - 31 พ.ค.68 จะหมดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ทุกโครงการ เป็นระยะเวลา 2 ปี