บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากกิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ให้สูงขึ้น
ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตลอดจนกลยุทธการส่งเสริมการขายและสงครามราคาจากผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆที่คงจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เนื่องจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงและอัตราหนี้เสียที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์รวมในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
อนึ่งยอดขายรถยนต์รวมในปี 2567 อยู่ที่ 572,675 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยยอดขายที่หดตัวลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจ รวมถึง ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง ตลอดจนความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ในปี 2568 โตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 231,000 คัน เพิ่มขึ้น 5% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 38.5% ขณะที่ยอดขายในปีที่ผ่านมา โตโยต้าทำได้ 220,356 คัน ลดลง 17.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 อย่างไรก็ตามยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 หรือที่ 38.5% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
ขณะที่เป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2568 อยู่ที่ 336,184 คัน ลดลง 1.0 %เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่ทำได้ 338,107 คัน โดยเป้าหมายการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า