ตะลึง สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้าง 50 ชนิด

24 ต.ค. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 21:23 น.
1.3 k

Thai-PAN ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่างทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบสารเคมีเกษตรตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ เกินค่ามาตรฐานมากถึง 95.8 % ผนึกกำลัง อย. ยกระดับการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักผลไม้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

24 ตุลาคม 2567 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ได้แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคททั่วกรุงเทพและปริมณฑล 

ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มีพันธกิจเฝ้าระวังคุณภาพสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ฉลาดซื้อได้รับคำถามและข้อเสนอจากผู้บริโภคว่า องุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้ มีโปรโมชันและการเชิญชวนให้ซื้อมากๆ เช่น การลดราคาหรือการแถมแบบซื้อ 1 กล่องแถม 1 กล่อง เป็นต้น  

อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายไปทั่ว ทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลว่า จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้างหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงชวนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มาร่วมกันตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท  

สำหรับการเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้เก็บทั้งหมด 24 ตัวอย่างจาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ดังนี้ 

1.บิ๊กซี สาขาบางปะกอก (ยี่ห้อรูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น ) 

2.ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า อนุสาวรีชัยสมรภูมิ (ยี่ห้อ FRESH NATURAL )  

3.โลตัส สาขาบางปะกอก (ยี่ห้อ Fresh Buddy และ Only at Lotus’s)  

4.แม็คโคร สาขาตลาดรุ่งโรจน์ คลอง4 (ยี่ห้อ Rose Aroma)            
5.วิลล่ามาร์เก็ท สาขาอารีย์ (ยี่ห้อ Fresh Fruit)

6.แม็กซ์แวลู เกทเวย์ เอกมัย (เก็บมาทั้งหมด 4  ยี่ห้อ ได้แก่ Lara, Sunshine Rose พวงองุ่นเขียว, เจมี่ฮิลล์, SUNSHINE ROSE รูปใบไม้) 

7.GOURMET MARKET สยามพารากอน (รวม 3 ตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ R-Rao ปลาสีทอง, เพนกวินฟาร์ม, ซูเปอร์เกรฟ)

8.GO WHOLESALE สาขารังสิต (2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อรูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น , YO)

9.ร้านผลไม้ ย่านอนุสาวรีชัยสมรภูมิ (ยี่ห้อ Califresh)

ตะลึง สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้าง 50 ชนิด

10.ร้านผลไม้ ตลาดสี่มุมเมือง (ไม่ติดยี่ห้อ)

11.ร้านผลไม้ ตลาดไท (2 ตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ R-Rao, ยี่ห้อรูปใบไม้) 

12.ร้านผลไม้ ตลาดไอยรา (2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบูติกเกรฟ, ซันไชน์โรด FTL หัวกวาง)  

13.ร้านผลไม้ ตลาด อตก. (ยี่ห้อซันไชน์โรด FTL หัวกวาง)  

ร้านขายผลไม้ออนไลน์ 2 แห่ง ได้แก่ เพจ Freshket และ Fruitage ทั้งสองตัวอย่างไม่ติดยี่ห้อเก็บตัวอย่างในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม อาสาสมัครเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากสถานที่จำหน่ายตามแผนการเก็บตัวอย่างโดยเลือกซื้อทั้งแบบแพกเกจที่มีการระบุยี่ห้อ (ฉลากระบุผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย) และแบบวางขายในชั้นวางของแหล่งจำหน่ายโดยไม่ได้ระบุยี่ห้อซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 - 699 บาท ดังนั้น บางตัวอย่างอาจพบว่าเป็นยี่ห้อที่ซ้ำกันแต่ก็มาจากแหล่งจำหน่ายต่างสถานที่กัน

ขณะที่ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อธิบายถึงกระบวนการวิเคราะห์และแปลผลว่า ได้ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้ง 24 ตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ ซึ่งได้การรับรอง ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

โดยมีขอบเขตการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง 419 รายการ และแปลผลการวิเคราะห์โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 387, 393, 419 และ 449) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งกำหนดให้อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายเว้นแต่วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดอื่นให้เป็น ดังนี้

1) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) 

2) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดโดย Codex Alimentarius Commission (Codex MRL) โดยใช้เกณฑ์การจำแนกกลุ่มสินค้าเกษตรตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9045-2559 การจัดกลุ่มสินค้าเกษตร : พืช 

3) ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit) 

4) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Extraneous Maximum Residue Limit; EMRL)

ตะลึง สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้าง 50 ชนิด

ข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ได้แก่

1.ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่างที่สุ่มซื้อมาจากการสั่งออนไลน์ 2 ตัวอย่างมาจากร้านค้าและตลาด 7 ตัวอย่างและจากโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่างสามารถระบุได้เพียง 9 ตัวอย่างว่ามาจากประเทศจีน อีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

2. พบว่า 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนดแบ่งเป็น 2 กรณี

1) องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว

2) องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg) สารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยอาทิ  Procymidone, Imazalil, Thiamethoxam, Tetraconazole และ Chlorfenapyr เป็นต้น

3. พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่า เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิดซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใด ๆ ภายใต้กฎหมายไทย อาทิ Triasulfuron, Cyflumetofen, Chlorantraniliprole, Flonicamid, Etoxazole และ Spirotetramat เป็นต้น

4. จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิดมีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่นซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย 

5. องุ่นไชน์มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิดโดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด

ตะลึง สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้าง 50 ชนิด ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟที ว็อทช์ ) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังเจรจา FTA กับหลายประเทศประชาชนต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบให้ผู้เจรจาและรัฐบาลรักษาสิทธิในการตรวจสอบสินค้าต่างๆอย่างเข้มข้น อย่าให้อำนาจการค้ากดดันจนเกรงใจประเทศคู่ค้าแล้วไม่ตรวจเพราะกลัวกระทบสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไป หรือแม้แต่ถูกมัดมือเพราะเกรงจะถูกคู่ค้าฟ้องกลับด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)ซึ่งจะทำลายพื้นที่นโยบายสาธารณะที่ไว้ดูแลประชาชนและผลประโยชน์ผู้บริโภค

ดร.วัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ตรวจสอบการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทในปี 2567 พบว่า มีการนำเข้า 264 ตัน มูลค่า 72 ล้านบาทและตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง ซึ่ง อย.ดำเนินการตามกฎหมายแล้วและยังตรวจสอบองุ่นนำเข้าทางรถไฟจากจีนพบว่า ผ่านมาตรฐาน

สำหรับในปี 2568 อย.ได้พัฒนามาตรการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพผักผลไม้นำเข้าเชิงรุกตามมาตรการ Hold, Test and Release และ 1daan/1lab/1day โดยเมื่อมีการนำเข้าผักและผลไม้จะเก็บตัวอย่างผักผลไม้กลุ่มเสี่ยงสูงกว่า 2,200 ตัวอย่าง

ตะลึง สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้าง 50 ชนิด

ส่งตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดจนกว่าจะพบว่าผลการทดสอบผ่านมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังและกำกับดูแลการนำเข้าผักและผลไม้และยังมีการทำ MOU ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ณ ด่านอาหารและยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ด้านเภสัชกรหญิงสุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลที่มีองุ่นนำเข้ามาขายในประเทศ อย.และ Thai- PAN ได้ประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังผักผลไม้มาระยะหนึ่งแล้วซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังผักผลไม้ร่วมกัน

จากผลการตรวจวิเคราะห์องุ่นในครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่เป็นสารที่ไม่มีกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข  หรือ CODEX ทำให้ไม่มีปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ หรือค่า MRL จึงต้องไปใช้ค่า default limit แทน ซึ่งกำหนดค่าไม่เกิน 0.01 ppm ทำให้ตกมาตรฐานโดยที่สารเหล่านี้ไม่มีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ซึ่งเป็นข้อมูลที่ อย.ต้องนำมาใช้วิเคราะห์หามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ผู้บริโภคต่อไปซึ่งได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้ อย.แล้ว