ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๖
อาศัยอํานาจตามความในข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกอบกับมติคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง มาตรฐาน คุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๖
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ประกาศนี้
“สถาบันอุดมศึกษา หมายความว่า สถาบันที่จัดการอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับ ต่ํากว่าปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน"
“ผลลัพธ์การเรียนรู้ หมายความว่า ผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จาก การศึกษา ฝึกอบรม หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จริงในที่ทํางาน ระหว่างการศึกษา”
ข้อ ๔ สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางด้านแพทยศาสตร์ ต้องกําหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ของมาตรฐานคุณวุฒิ ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ที่แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ ๕ สถาบันอุดมศึกษาใดที่จัดการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางด้านแพทยศาสตร์ อยู่ในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามประกาศนี้ในรอบการปรับปรุงหลักสูตรครั้งต่อไป
ข้อ ๖ ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้ หรือมีความจําเป็นต้องปฏิบัติ นอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในประกาศนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และให้ถือคําวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาเป็นที่สุด
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกิตติชัย วัฒนานิกร
ประธานกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ของมาตรฐานคุณวุฒิในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย
๑. ด้านความรู้ สามารถนําหลักการพื้นฐานและความรู้ดังต่อไปนี้ เพื่อการบริบาลสุขภาพ
๑.๑ ความรู้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ได้แก่ วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และเทคโนโลยีทางการแพทย์
๑.๒ ความรู้อื่น ๆ ได้แก่
(๑) ศาสตร์ระบบสุขภาพ (health systems science)
(๒) พฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์
(๓) เวชจริยศาสตร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
(๔) หลักการทางวิทยาศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัย ชีวสถิติ และเวชศาสตร์เชิงประจักษ์
(๕) หลักการบริบาลเวชกรรมแบบองค์รวม
คําอธิบาย:
• วิทยาศาสตร์การแพทย์ หมายรวมถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
• ศาสตร์ระบบสุขภาพ คือ การศึกษาว่าการส่งมอบการบริการสุขภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร ทีมสหวิชาชีพ ด้านสุขภาพทํางานร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดการส่งมอบบริการสุขภาพ และจะทําอย่างไร เพื่อพัฒนาการดูแล ผู้ป่วยและการส่งมอบบริการสุขภาพให้ดีขึ้นในเชิงระบบ
• สังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ได้แก่ แนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์สุขภาพและ มานุษยวิทยาการแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์
๒. ด้านทักษะ สามารถแสดงทักษะต่อไปนี้ในการปฏิบัติงานในระบบสุขภาพ
๒.๑ ทักษะเฉพาะวิชาชีพ หมายถึง ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบริบาลผู้ป่วย ได้แก่
(๑) การสัมภาษณ์ประวัติและตรวจร่างกาย
(๒) การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรคอย่างเป็นระบบ
(๓) การตรวจ ส่งตรวจ และแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รังสีวิทยา และการตรวจอื่น ๆ อย่างสมเหตุผล
(๔) การดูแลรักษาอย่างสมเหตุผล
(๕) การทําหัตถการที่จําเป็น
(๖) การบันทึกเวชระเบียนและจัดทําเอกสารทางการแพทย์
(๗) การให้ข้อมูลด้านสุขภาพและคําปรึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ
๒.๒ ทักษะทั่วไป ได้แก่
(๑) ทักษะการเรียนรู้
(๒) ทักษะส่วนบุคคล
(๓) ทักษะการทํางานร่วมกับผู้อื่น
(๔) ทักษะการสื่อสาร
(๕) ทักษะดิจิทัล (digital literacy)
คําอธิบาย:
ทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา (problem solving skill) ทักษะในการจัดการ ตัวเอง (self-management skill) ทักษะด้านเทคโนโลยี (technology skill)
ทักษะส่วนบุคคล ได้แก่ ความสามารถในการจัดการความเครียด ความยืดหยุ่นและความสามารถ ในการปรับตัว (flexibility and resilience) ทักษะทางภาษา ทักษะการพัฒนาตนเอง การชี้นําตนเอง ความเป็นผู้นําและความรับผิดชอบ ทักษะทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Social & Cross-Cultural
Skills)
ทักษะดิจิทัล ได้แก่ สมรรถนะด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยครอบคลุมถึงความเข้าใจ การเข้าถึง และการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. ด้านจริยธรรม
๓.๑ จริยธรรมทั่วไป สามารถแสดงพฤติกรรมหรือการกระทําระดับบุคคลที่สะท้อนถึงความเป็น ผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม และจรรยาบรรณ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตนทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น ได้แก่
(๑) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้อง โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ และความผาสุก ของประชาชนโดยรวม
(๒) อุทิศเวลาในการทํางาน ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น
(๓) ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(๔) ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือ สิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น
(๕) รักษาความลับตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้อง
(๖) ปฏิบัติ กํากับดูแล หรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และระบบคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
๓.๒ จริยธรรมของการเป็นแพทย์ สามารถแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
๔. ด้านลักษณะบุคคล
๔.๑ ลักษณะบุคคลทั่วไป
(๑) สุภาพ ให้เกียรติผู้อื่น
(๒) อดทน อดกลั้น
(๓) เคารพกฎหมายบ้านเมือง
๔.๒ ลักษณะบุคคลตามวิชาชีพ
(๑) มีความสุจริตในการประกอบวิชาชีพ
(๒) รับผิดชอบต่อผู้ป่วย งานที่ได้รับมอบหมาย และผลจากการกระทําของตน
(๓) เป็นที่ไว้วางใจของผู้ป่วย ญาติ และสังคม
(๔) โปร่งใส ยินดีรับการตรวจสอบ
(๕) มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
(๖) มีน้ำใจ เห็นแก่ผู้อื่น
(๗) มีภาวะผู้นํา
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา