ความคืบหน้าการเป็น “เมืองหลวงสุขภาพโลก” ของไทย

24 ก.พ. 2566 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 08:14 น.

ผ่านโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “เมืองหลวงสุขภาพโลก” ล่าสุดมีความคืบหน้าแค่ไหน สุดท้ายจะเป็นได้แค่ฝันหรือแค่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายสำคัญหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากจากการเจอโรคระบาดครั้งใหญ่ โควิด-19 ด้วยการส่งเสริมการนำประเทศไทยยกระดับไปสู่ “เมืองหลวงสุขภาพของโลก” เพราะตลอดระยะยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า มีความพร้อมด้านสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงพยายามผลักดันการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Hub) และการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีแม่งานนั่นคือ กระทรวงสาธารณสุข

ไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำรายงานมาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระหว่างปี 2560 – 2569 สรุปได้ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายประเทศไทย “เมืองหลวงสุขภาพโลก”

นโยบายท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการหลักในระดับนโยบาย การท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอันดามันอย่างยั่งยืน เป็นกลไกขับเคลื่อน และกำกับติดตาม 

พร้อมทั้งมีคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นแกนกลางในการประสานการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ประสานการปฏิบัติและติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่องคือ จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ 

เช่นเดียวกับการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้เสนอโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนด เพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการโดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายประเทศไทย “เมืองหลวงสุขภาพโลก”

ปีงบประมาณ 2565

มีผลการดำเนินโครงการ ได้แก่ การพัฒนายกระดับสถานประกอบการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพระดับสากล เพื่อรองรับการเป็นสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ เชื่อมโยงและสนับสนุนการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วประเทศผ่านการบริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การพัฒนาเมืองสมุนไพร และจังหวัดท่องเที่ยวที่มีทุนและศักยภาพในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

ปีงบประมาณ 2566

กำหนดแนวทางส่งเสริมและยกระดับ การสร้างสรรค์สินค้า บริการ และกิจกรรมเมืองท่องเที่ยวให้มีคุณค่าและมูลค่าสูง และแนวทางยกระดับการบริการและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยมีโครงการภายใต้แนวทางดังกล่าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการยกระดับบริการความปลอดภัยและบริหารจัดการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน

ปีงบประมาณ 2567

จัดทำกรอบการจัดทำคำของบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยมีโครงการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ภายใต้แนวทางดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้หน่วยงานจัดทำคำของบประมาณ ประจำปี 2567 ภายใต้กรอบแนวทางที่กำหนดต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายประเทศไทย “เมืองหลวงสุขภาพโลก”

 

พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชื่อมโยงสถานประกอบการและชุมชน และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านบริการท่องเที่ยว ประเภทที่พักแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) 

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยทั้งโอกาสทางการตลาด เทคนิคในการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับในสถานประกอบการของตนเองได้อย่างมีมาตรฐานและสามารถพัฒนา สู่กระบวนการรับรองและตรวจประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายประเทศไทย “เมืองหลวงสุขภาพโลก”

 

เสนอตัวจัด Specialized Expo 2028

การขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ Specialized Expo 2028 เพื่อยกระดับจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยเตรียมการสำหรับโครงการส่วนต่อขยายจากโครงการ Phuket Medical Hub และ Specialized Expo 2028 ในโครงการ Sports Complex ในพื้นที่ 238 ไร่ บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยอยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในรูปแบบ Sports Tourism ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรมในทุกระดับทั้งกิจกรรมวิ่ง ปั่นจักรยาน ไตรกีฬา งาน AIR SEALAND กลุ่ม Ex-Treme และ World Sports Event ได้แก่ IRONMAN SPARTAN งานแข่งขันเรือใบ REGATTA 

รวมไปถึงให้การสนับสนุนการต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในกลุ่มเรือสำราญขนาดใหญ่ และกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะเซิร์ฟบอร์ด อีกด้วย