รู้จักโนโรไวรัส อาการเป็นอย่างไร ติดต่อหรือไม่

23 ก.พ. 2566 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2566 | 16:52 น.

โนโรไวรัส คืออะไร อาการบ่งชี้ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโนโร เป็นโรคติดต่อหรือไม่ การรักษาและวิธีป้องกันต้องทำอย่างไร เช็คเลยที่นี่

จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์นักเรียนและครูในจังหวัดชัยภูมินับร้อยคน มีอาการท้องร่วง จนต้องหามส่งโรงพยาบาล และเบื้องต้นจากการสอบสวนโรคพบว่าเกิดจากเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่ได้ทั้งในน้ำแข็งและอาหาร สำหรับโนโรไวรัส อาการบ่งชี้จะเป็นอย่างไร การติดต่อของไวรัสนี้มีรูปแบบไหนบ้าง รวมไปถึงการแพร่กระจายโรค การรักษา และวิธีการป้องกันโนโรไวรัสต้องทำอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ มานำเสนอดังต่อไปนี้ 

อาการ โนโรไวรัส

  • "โนโรไวรัส" ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร มีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ จึงมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเป็นพิษ มีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย ไข้ต่ำๆ อาการรุนแรงในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
  • โนโรไวรัส ระบาดบ่อยในหน้าหนาว พบตามโรงเรียน ภัตตาคาร แคมป์ โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก หรือแม้แต่เรือ รถท่องเที่ยว
     

การติดต่อ โนโรไวรัส

  • "โนโรไวรัส" ติดต่อได้หลายทาง เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น อาหารทะเล ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หรือสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก
  • ดังนั้นจึงมักพบ โนโรไวรัส ระบาดอย่างรวดเร็วในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่บริวณลำไส้เล็กส่วนต้นและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก

การแพร่กระจายโรคโนโรไวรัส

  • โนโรไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนสามารถติดต่อได้ง่าย โดยสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม และติดต่อทางอากาศ การหายใจได้ เช่นการหายใจใกล้กับผู้ป่วยที่อาเจียน เมื่อตรวจอุจจาระจะพบเชื้ออยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ หลังจากผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

การรักษาโรคโนโรไวรัส

  • โรคโนโรไวรัส รักษาตามอาการ อาเจียน ให้ยาแก้อาเจียน ถ้าถ่ายมาก ขาดน้ำ ให้สารละลายเกลือแร่หรือน้ำเกลือ การให้ยาปฏิชีวนะ จึงจะไม่ได้ประโยชน์ในการรักษาการติดเชื้อโนโรไวรัส

วิธีการป้องกันโนโรไวรัส

  • ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
  • หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน หรือใช้หลักการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"
  • ควรล้างมือด้วยสบู่ ถูให้ทั่วนาน 15 วินาที

นอกจากนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ยังได้รวบรวมข้อมูลจาก"โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย"ที่ได้นำเสนอข้อมูลข้อควรปฏิบัติในกรณีที่เกิดการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ปิดสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน ผู้ป่วยทุกคนควรอยู่บ้าน ไม่ควรมาโรงเรียน
  • ทำความสะอาดโรงเรียน สนามเด็กเล่น และของที่เด็กจะต้องใช้ร่วมกัน โดยใช้การชะล้างให้มากที่สุด
  • ใช้สารเคมีหรือน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนประกอบของคลอรีนทำความสะอาด เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ คลอร็อกซ์ ไฮตอร์ ซึ่งสามารถทำลายเชื้อได้เป็นอย่างดี
  • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก่อนทิ้ง ควรหยดสารละลายที่มีองค์ประกอบคลอรีน 1 หยดเพื่อทำลายเชื้อให้หมดไปก่อนทิ้งในถังติดเชื้อ
  • ฝึกสอนเด็กและพี่เลี้ยงให้มีการล้างมือบ่อย ๆ โดยฉพาะก่อนจับต้องอาหาร
  • ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กควรเป็นของใครของมัน ไม่ใช้ร่วมกัน

โนโรไวรัสกับสถานเลี้ยงเด็ก

ที่มาเรื่อง -ภาพ