ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า
โควิด 19 สายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง
การศึกษาที่ศูนย์ศึกษาสายพันธุ์มาโดยตลอด ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม
จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์มาโดยตลอด สายพันธุ์ โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่อยู่มาตั้งแต่ต้นปี
แต่มีลูกหลานเป็นสายพันธุ์ย่อยตั้งแต่เริ่มระบาดเข้ามาเป็น BA.1
แล้วก็เปลี่ยนเป็น BA.2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา BA.5 ก็เข้ามาแทนที่
โดยที่ BA.4 ไม่สามารถต่อขึ้นมาได้ และใน 2 เดือนนี้ ก็ถูกแทนที่ด้วย BA.2.75
โดยที่ขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 เกือบทั้งหมด และต่อไปถ้ามีการระบาด สายพันธุ์ต่างประเทศตะวันตก คือ BQ.1 และ BQ.1.1 ก็คงจะเข้ามาแทนที่ต่อไปอีก
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจะมีขึ้นตลอดเวลา ส่วนระบบภูมิต้านทานในการป้องกันการติดเชื้อ ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า
เมื่อติดเชื้อแล้วหรือฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะผิวนอก
ตัวโครงสร้างของไวรัสยังคงเดิม การกำจัดเชื้อไวรัสเพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะระบบ T เซล ยังทำงานได้ดี
วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมา ก็จะไล่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวนอก หรือสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย
วัคซีน 2 สายพันธุ์ ก็ไม่ได้เหนือกว่าวัคซีนเดิมมาก และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปอีกก็คงจะไม่ต่างกันมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์เรารู้จัก และประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ความรุนแรงของโรคก็จะลดลง
ประกอบกับมียารักษาที่ดีขึ้น ทุกอย่างก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยที่สายพันธุ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด ทีละเล็กละน้อย เหมือนกับไข้หวัดใหญ่