มหาดไทย ชงร่าง พ.ร.บ.การพนัน ฉบับแก้ไข เข้า ครม. 25 ก.พ.นี้

20 ก.พ. 2568 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2568 | 10:01 น.

กระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การพนัน ฉบับแก้ไข เข้า ครม. 25 ก.พ. นี้ หลังเปิดรับฟังความเห็นและประชาชนเสร็จสิ้น ส่วนใหญ่เห็นด้วย พร้อมเพิ่มโทษหนักการพนันครอบคลุมทั้งบ่อนและพนันออนไลน์

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการปกครอง ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 14 ก.พ. 68 ผลจากการรับฟังความคิดเห็น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในวันที่ 25 ก.พ. 68 นี้

สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.การพนัน ฉบับแก้ไขครั้งนี้ กระรวงมหาดไทย ระบุว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้การเล่นและการชักจูงผู้คนเข้าสู่โลกการพนันมีความซับซ้อนและนำไปสู่อาชญากรรมอื่นๆ ในสังคม กระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยได้กำหนดให้ "การจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล" เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมหาดไทย 

พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการปราบปรามขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองบูรณาการร่วมชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัด/อำเภอ ลงพื้นที่ปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย

 

ขณะเดียวกันยังเตรียมดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มข้น โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้แก้ให้ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ให้สามารถบังคับใช้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั้งต้องครอบคลุมบ่อนพนัน พนันออนไลน์ การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ และมีอัตราโทษที่หนักขึ้น 

"กฎหมายพนันฉบับแก้ไข จะเป็นยาแรงและส่งสัญญาณชัดว่ารัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยจะใช้กฎหมายบังคับอย่างจริงจังในการควบคุมการเล่นพนันในทุกช่องทาง เพื่อสร้างข้อจำกัดในการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันของคนในสังคม โดยมีการกำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้นสำหรับผู้เข้าเล่นพนัน ผู้จัดให้มีการเล่น เจ้าของบ่อน เจ้าของสถานที่ที่มีส่วนรู้เห็นและผู้สนับสนุน เพิ่มอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ให้มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ ควบคุม อายัด สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทุกรูปแบบ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว