ติดเชื้อโควิดหลังสงกรานต์ ทุกสิทธิการรักษาต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่

17 เม.ย. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2565 | 20:33 น.
3.7 k

ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 ติดเชื้อโควิดหลังสงกรานต์ กลุ่มสีเขียว-เหลือง-แดง ใช้ประกันสังคมรักษาต้องทำอย่างไร ติดต่อช่องทางไหนได้บ้าง ที่นี่มีคำตอบ

ผ่านพ้นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวกันมาแล้ว หลายคนทยอยเดินทางกลับสู่เมืองหลวงเพื่อเริ่มต้นทำงานในสัปดาห์ใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเรายังน่าเป็นห่วง สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากสงกรานต์แล้ว กรมควบคุมโรค แนะนำให้สังเกตอาการตนเองและเฝ้าระวังเป็นเวลา 7 วัน กรณีหากติดเชื้อโควิดในช่วงนี้สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ต้องการใช้สิทธิเข้ารับการรักษาซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนเอาไว้แล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ครบที่นี่   

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 

  • กรณีติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ และสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมทุกแห่ง
  • ที่สถานที่พักอาศัยไม่สะดวกในการทำ Home Isolation สามารถติดต่อเข้ารับการรักษาแบบ เจอ แจก จบ (การรักษาแบบผู้ป่วยนอก) ในโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการประกันสังคม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักและเครือข่ายทุกแห่ง สามารถเข้ารักษาได้ ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ หรือไม่ใช่ตามสิทธิ และในโรงพยาบาลรัฐที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ

  • รวมถึงโรงพยาบาลอื่นที่ทำ MOU ในการให้บริการรักษาแบบ "เจอ แจก จบ" กับโรงพยาบาลหลักที่อยู่ในโครงการประกันสังคม

ผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39

  • กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว หรือมีอาการเล็กน้อยสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation หรือการรักษาแบบ Hospitel
  • กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมได้ทุกแห่งที่ใกล้บ้าน (UCEP PLUS)

ผู้ประกันตน มาตรา 40

  • สามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิ สปสช. (30 บาท) ตามแนวทางหลักเกณฑ์ที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ลักษณะอาการกลุ่ม "สีเขียว"

  • ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย
  • มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป
  • ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส
  • เจ็บคอ ไอ /มีน้ำมูก
  • มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง

ลักษณะอาการกลุ่ม "สีเหลือง"

  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย
  • ปอดอักเสบ ไอแล้วเหนื่อย
  • อ่อนเพลีย ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
  • อาการแทรกซ้อนนจากโรคประจำตัว
  • เด็กเล็ก ซึม หายใจลำบาก กินนม/อาหารน้อยลง
  • กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค)

ลักษณะอาการกลุ่ม "สีแดง"

  • หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค
  • แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก
  • ปอดอักเสบรุนแรง
  • อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคมา ซึมลง
  • ไข้สูงกว่า 39 องศาต่อเนื่อง
  • ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 สีเหลือง-สีแดง เข้าเกณฑ์ UCEP Plus รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิรักษาของท่าน
  • UCEP Plus เข้ารักษาใน รพ.ใดก็ได้ ที่อยู่ใกล้ (รัฐ/เอกชน) ไม่เสียค่าใช้จ่าย รพ.ดูแลรักษาจนหายหรือส่งต่อไป รพ.อื่น หรือ ส่งต่อให้รพ.ในเครือข่ายที่จัดไว้

ช่องทางติดต่อ:

  • ประกันสังคม 1506
  • สปสช.1330 สิทธิบัตรทอง 30 บาท
  • สพฉ.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉิน
  • สายด่วนกรมบัญชีกลาง 02-0206400 วันและเวลาราชการ
  • กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426
  • สอบถามสิทธิ UCEP Plus 02 8721669 

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับจากสงกรานต์แล้ว กรมควบคุมโรค แนะนำปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ให้สังเกตอาการตนเองและเฝ้าระวัง 7 วัน
  2. กรณีมีอาการสงสัยติดเชื้อ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้ทำการตรวจ ATK
  3. หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก
  4. หากต้องพบผู้อื่นให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  5. Work From Home ตามความเหมาะสม
  6. ปฏิบัติตามมาตรการ 2U เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อโควิด-19 คือ
  • Universal Prevention มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา อย่างเคร่งครัด โดยเน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
  • Universal Vaccination เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต