ECST ชี้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่แย้งความเป็นจริง

17 ก.พ. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2565 | 18:49 น.

ECST ชี้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่แย้งความเป็นจริง โต้ผลการศึกษาจากการสังเกตการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ในวารสาร บีเอ็มเจ มีจุดบกพร่องอยู่หลายจุด ทำให้ข้อสรุปไม่ถูกต้อง

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ หรือ ECST (Ends Cigarette Smoke Thailand) และแอดมินเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งอังกฤษออกมาชี้แจงว่างานวิจัยสถาบันมะเร็งมอเรส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้น้อยกว่าการใช้นิโคตินทดแทนมีวิธีทำการวิจัยที่ยังไม่ถูกต้อง ทำให้ได้ข้อสรุปขัดแย้งกับการศึกษาในผู้ใช้จริง (การศึกษาทางคลินิก) 

 

ซึ่งมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยสำหรับผู้อยากเลิกบุหรี่มวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ เอฟเฟคทีฟ ควิทติ้ง เอด (effective quitting aids)

 

และทางหน่วยงานสุขภาพระดับชาติของอังกฤษก็รับรองผลและชี้แนะว่าควรนำไปใช้ด้วย

ทั้งนี้ คำชี้แจงดังกล่าวของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ จอห์น บริตตัน จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารทางการแพทย์ Science Medical Centre โดยระบุว่า ผลการศึกษาจากการสังเกตการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามีจุดบกพร่องอยู่หลายจุด เพราะเป็นการพิจารณาตัวแปรที่สุดโต่ง คือในผู้สูบบุหรี่ที่เสพติดขั้นรุนแรง 

 

และผู้สูบบุหรี่ที่ขาดแรงจูงใจในการพยายามเลิกหรือลดการเสพติดบุหรี่มวน หรือผู้ที่เคยล้มเหลวจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนเพื่อเลิกบุหรี่มาก่อนแล้ว จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลวิจัยไม่เห็นความสำเร็จในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่

 

ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (clinical trials) ที่มีการออกแบบการทดลองอย่างรอบคอบ ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตอบคำถามว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ผู้เสพติดบุหรี่ที่มีสารอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าได้จริงหรือไม่
 

นอกจากนี้ ศ.กิตติคุณ บริตตัน ยังระบุว่า ข้อสรุปจากการวิจัยทางคลินิกที่แสดงผลชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือช่วยบำบัดผู้อยากเลิกบุหรี่มวนได้อย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การปรับนโยบายสาธารณสุขของทางฝั่งอังกฤษ ที่ได้รับรองการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

 

และมีคำแนะนำการใช้ที่เหมาะสมไว้ใน คู่มือการเลิกบุหรี่ หรือไกด์ไลน์ฉบับล่าสุดปี 2021 ของสถาบันสุขภาพและการดูแลสุขภาพแห่งชาติ ของสหราชอาณาจักร หรือ NICE  (UK National Institute for Health and Care Excellence)

 

อาสา ศาลิคุปต
 

 

นายอาสา กล่าวอีกว่า เครือข่ายมีสมาชิกและผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน ซึ่งหลาย ๆ คน ก็ยืนยันประสบการณ์จริงได้ว่า ทุกคนต้องการให้ตัวเองและคนรอบข้างได้รับอันตรายจากควันบุหรี่น้อยลง จึงเปลี่ยนมามาใช้บุหรี่ไฟฟ้าและไม่ได้สูบบุหรี่กันแล้ว จึงต้องการให้ผู้กำหนดนโยบายได้มองรอบด้านและนำข้อมูลทั้งด้านลบด้านบวกมาพิจารณาในทุกมิติ ไม่ใช่แต่เรื่องสุขภาพ เพื่อที่จะพาเราไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับคนสูบบุหรี่ได้จริง ๆ 

 

ไม่ใช่อ้างงานวิจัยชิ้นเดียวแล้วมาออกข่าวใหญ่โตเพื่อสร้างความเข้าใจผิด เพื่อต้องการคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ต่อไป ทั้งที่การแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้สูบบุหรี่ในประเทศกว่า 9 ล้านคน และคนรอบข้างที่ได้รับควันมือสองอีกกว่า 15 ล้านคน ยังต้องได้รับอันตรายต่อไป 

 

“ต้องการเห็นการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับที่เราจัดการเรื่องกัญชา กระท่อม ที่นำมาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย หรือเรื่อง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ทำให้รัฐควบคุม เก็บภาษีสรรพสามิตได้ และป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้เหมือนในอีก 79 ประเทศทั่วโลก"

 

จึงขอฝากไปถึง รมว. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ออกมาสนับสนุนการแก้ปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า พรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลด้านกฎหมายการแบนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ พรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่พรรคกล้า และ ส.ส. หลายท่านของพรรคก้าวไกล ที่ออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ให้นำข้อมูลตรงนี้ไปพิจารณาด้วย”