บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หมอเอกหนุน รมว.ดีอีเอสปลดล็อกตามรอยสหรัฐอเมริกา

25 ต.ค. 2564 | 19:43 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 02:43 น.

นพ.เอกภพ สนับสนุน รมว. ดีอีเอส ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสงสัยการรณรรงค์ต่อต้านบุหรี่มีกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ให้ความสนใจกับข้อมูลรอบด้าน

จากกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า เตรียมดึงเข้าระบบเพื่อควบคุมให้ถูกกฎหมาย นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. เชียงราย โพสต์ข้อความผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว (หมอเอก Ekkapob Pianpises @DoctorEkkapob) แสดงความคิดเห็นสนับสนุน พร้อมยกกรณีล่าสุดขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ อย.สหรัฐฯ (US-FDA) ที่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อแรกวางขายในสหรัฐอเมริกาได้ แสดงถึงการยอมรับด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการ แต่ประเทศไทยยังคงไม่ยอมรับข้อมูลด้านบวกของบุหรี่ไฟฟ้าใดๆ แม้จะมีข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรองบุหรี่ไฟฟ้าลดสารอันตรายได้มากกว่าบุหรี่มวน

 

นพ.เอกภพ กล่าวว่า การไม่สูบบุหรี่เลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ทาง US-FDA ยืนยันออกมาชัดเจนเรื่องการลดอันตราย (Harm Reduction) ของบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่มวน เพราะมีสารพิษน้อยกว่าที่มาจากการเผาไหม้ของบุหรี่แบบเดิม และยังบอกชัดเจนว่าในกลุ่มเยาวชนนั้นไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการไปสูบบุหรี่มวนเหมือนที่บางกลุ่มในบ้านเราชอบอ้าง โดยเยาวชนจะเริ่มต้นจากการใช้รสชาติปรุงแต่งของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการควบคุมให้ขายได้เฉพาะที่เป็นรสชาติบุหรี่ก็จะทำให้เยาวชนหน้าใหม่จะสนใจสูบน้อยลง ดังนั้นการปล่อยให้ขายแบบเถื่อนโดยไม่มีการควบคุมย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อเยาวชน

นพ. เอกภพ สนับสนุนปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี นพ.เอกภพ   ยังได้ตั้งคำถามถึงอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายอนุญาตและพิจารณาประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าในนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศไทย ว่าเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ หรือ สสส. หรือไม่
“ที่ US-FDA อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อแรกวางขายในสหรัฐอเมริกาได้ ด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการ ผิดกับในประเทศไทยที่กลุ่มซึ่งมีบทบาทในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกลับไม่ยอมให้มีการนำข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้ามาศึกษาอย่างจริงจัง โดยการอ้างข้อมูลวิชาการเก่าบ้าง หรือไม่ก็ข้อมูลการสำรวจที่ให้ทุนกันเองทำกันเองบ้าง แบบที่เคยเขียนถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของเครือข่ายคนเหล่านี้มาบ้างแล้ว”
ก่อนหน้านี้ นพ.เอกภพ เคยโพสเฟซบุ๊กตอบโต้แถลงการณ์ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยที่ไม่ยอมรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย พร้อมทิ้งท้ายว่าสนับสนุนการขับเคลื่อน smoke free society แบบมีเหตุผลทางวิชาการรองรับและสอดคล้องกับแนวทางของนานาอารยประเทศทำกัน และสนับสนุนให้เปิดโปงเครือข่ายที่รับผลประโยชน์จาก สสส. โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบออกมาให้ประชาชนได้เห็น โดยคิดว่านอกจากจะถึงเวลาคิดใหม่เรื่องเกี่ยวกับนโยบายควบคุมยาสูบและอาจรวมถึงแอลกอฮอล์แล้วน่าจะต้องถึงเวลาทลายกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกาะกินเงินจาก สสส. เสียที