อัพเดท "โอมิครอน" ทำไมติดเชื้อมาก เด็ก 5-11 ปีเสี่ยงแค่ไหนจากวัคซีน เช็กเลย

06 ม.ค. 2565 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 21:59 น.

อัพเดท โอมิครอน ทำไมติดเชื้อมาก เด็ก 5-11 ปีเสี่ยงแค่ไหนจากวัคซีน เช็กที่นี่ หมอธีระเผยผลวิจัยมีการติดเชื้อในเซลล์ปอดน้อยลงกว่าเดลตา ติดเข้าเซลล์ที่อยู่ในหลอดลม และแบ่งตัวได้มากกว่าเดลตา 70 เท่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
6 มกราคม 2565 ทะลุ 297 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,270,343 คน ตายเพิ่ม 6,632 คน รวมแล้วติดไปรวม 297,857,572 คน เสียชีวิตรวม 5,481,064 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และสเปน 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 88.15% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 92.49%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 53.98% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 55.86%   
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

อัพเดต Omicron (โอมิครอน
Omicron แพร่ระบาดไปแล้ว 141 ประเทศ โดยมี 22 ประเทศที่รายงานมากกว่า 1,000 ราย (Source: Newsnodes)
สำหรับสถานการณ์ไทย
จำนวนเคส Omicron สะสม 2,338 คน เป็นอันดับ 12 ของโลก
อัพเดตความรู้
Omicron นั้นมีการติดเชื้อในเซลล์ปอดน้อยลงกว่าเดลตา โดยตอนนี้มีงานวิจัยในห้องแล็บ และในสัตว์ จำนวน 7 ชิ้นจากอเมริกา สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้ผลออกมาสอดคล้องกัน ซึ่งก็เป็นไปในทางเดียวกับความรู้จากงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ Omicron นั้นมีการเปลี่ยนแปลงกลไกการนำไวรัสเข้าสู่เซลล์ จากเดิมที่สายพันธุ์ก่อนๆ อาศัยตัวรับร่วม TMPRSS2 แต่ Omicron ใช้กลไกแบบ endocytosis 
นอกจากนี้ยังพบว่า Omicron จะติดเข้าเซลล์ที่อยู่ในหลอดลม และแบ่งตัวได้มากกว่าเดลตา 70 เท่า นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อติดเชื้อได้มากขึ้นกว่าเดิม 

อีกเรื่องที่สำคัญและได้รับคำถามมามากจากผู้ปกครองคือ ความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจาก mRNA vaccine (Pfizer/Biontech) ในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี
ล่าสุดมีข้อมูลจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีน Pfizer/Biontech ในเด็ก 5-11 ปีนั้นมีน้อยมาก
โดยในเด็กผู้ชาย จะพบภาวะดังกล่าวเพียง 4.3 คนจาก 1,000,000 โดสที่ฉีด 
และในเด็กผู้หญิง จะพบเพียง 2 คนจาก 1,000,000 โดสที่ฉีด 
ทั้งหมดเกิดหลังได้รับเข็มที่ 2
ทั้งนี้ ขนาดของวัคซีน Pfizer/Biontech ที่ใช้ในเด็กนั้นจะมีขนาดต่ำกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า 
ดังนั้นหากพิจารณาตามข้อมูลวิชาการแล้ว ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักทั่วโลก การฉีดวัคซีนในเด็กนั้นจะเกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิต ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน

การติดเชื้อโอมิครอนของประเทศต่างๆ
สำหรับประชาชนไทย
หากดูจากธรรมชาติการระบาดของ Omicron ของต่างประเทศ คาดว่าถัดจากกลางเดือนมกราคม การระบาดระลอกที่ 4 จาก Omicron ของไทยเราจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 
ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ การเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรค ไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ก็ตาม
การมี ATK เก็บไว้ที่บ้านบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ เวลาที่สมาชิกในบ้านมีอาการไม่สบายหรือสัมผัสความเสี่ยงมา หากตรวจได้ผลบวก โอกาสติดสูง หากตรวจได้ผลลบ อย่าวางใจ มีโอกาสเกิดผลลบปลอมได้ ขอให้ตรวจซ้ำในวันถัดๆ ไป
เหนืออื่นใด โอกาสที่ระบบตรวจคัดกรองโรคของประเทศเราจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับความต้องการตรวจจริงตอนที่ระบาดหนักน่าจะเป็นไปได้ยาก 
ดังนั้นทางที่ควรปฏิบัติคือ ยามใดที่มีอาการไม่สบาย ไข้ ปวดหัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ปวดเมื่อยตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ขอให้สงสัยโควิด-19 ด้วยเสมอ ใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ คนอื่นในบ้าน ไม่แชร์ของกินของใช้ และหาทางไปตรวจรักษาตามช่องทางที่มี
home isolation หรือกักตัวที่บ้านนั้น ในต่างประเทศทำได้ แต่ในประเทศไทย หลายพื้นที่อาจต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเขตเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแออัด บ้านที่รวยมีที่ทางคงไม่มีปัญหา แต่หากเป็นบ้านที่คับแคบ รวมถึงหอพัก คอนโด แฟลต ชุมชนแออัด คงต้องระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ด้วย  เพราะ Omicron มีอัตราการแพร่เชื้อติดเชื้อในครัวเรือนได้สูงกว่าเดลตา (31% vs 21%) ดังนั้นหากผู้ติดเชื้อหรือครอบครัวประเมินแล้วเสี่ยงมาก ควรไปที่ community isolation
ใส่หน้ากาก อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี 
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ...