โอมิครอนนำไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ หมอเฉลิมชัยชี้ติดเชื้อเพิ่มชัดเจน

06 ม.ค. 2565 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 17:02 น.

โอมิครอนนำไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ หมอเฉลิมชัยชี้ติดเชื้อเพิ่มชัดเจน และมีผู้ตรวจ ATK เป็นบวกมากขึ้น หลังส่วนใหญ่จะติดเชื้อแบบไม่ค่อยมีอาการ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
โควิดไทยเข้าสู่ระลอกใหม่หรือระลอกที่ 4 ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2564 ภายใต้การนำของไวรัส Omicron (โอมิครอน)
ประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของโควิดระลอกที่ 3  (ซึ่งบางท่านเรียกว่าเป็นระลอกที่ 4 เพราะไปแบ่งระหว่างอัลฟากับเดลตาซึ่งอยู่ในระลอกเดียวกัน) ไปแล้ว เมื่อ 28 ธันวาคม 2564
โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาต่ำสุดในระลอกที่ 3 ที่จำนวน 2305 ราย และเมื่อผ่านเข้าสู่ปีใหม่ 2565 ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และมีสัดส่วนของไวรัส Omicron เพิ่มเป็นลำดับด้วย
นอกจากนั้นในผู้ติดเชื้อไวรัส Omicron พบสัดส่วนของผู้ติดกันเองภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และกำลังจะแซงไวรัส Delta กลายเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคตอันใกล้นี้
 

ส่งผลให้ในวันที่ 5 มกราคม 2565 
พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3899 ราย เพิ่มจากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่จำนวน 2305 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็น 69%
ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยชุดทดสอบที่บ้านหรือเอทีเค (ATK)ก็เพิ่มขึ้นเป็น 3555 ราย จากจุดต่ำสุด 390 ราย เพิ่มขึ้น 9 เท่าตัว
และผู้ติดโควิดจากต่างประเทศ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 169 ราย จากที่เคยติด 54 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น  หากแต่ลดลงจาก 32 ราย เหลือ 19 ราย คิดเป็นการลดลง 40%

สถานการณ์โควิดหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64
ในเบื้องต้น ณ ปัจจุบันจึงพอกล่าวได้ว่า
1.ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของโควิดระลอกที่ 3 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 2305 ราย
2.จุดต่ำสุดของผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่กลางเดือนมกราคม 2565 คือหลังติดเชื้อประมาณ 10-14 วัน

3.จุดต่ำสุดของผู้เสียชีวิต อาจเลยกลางเดือนมกราคม 2565 และอาจมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำลงไปกว่านี้ได้ ถ้าไวรัส Omicron มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าเป็นอย่างมาก
4.ต้องถือว่าไทยได้เข้าสู่โควิดระลอกใหม่ หรือระลอกที่ 4 แล้วในเดือนมกราคม 2565
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน และมีผู้ตรวจเอทีเคเป็นบวกที่มากขึ้นด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่จะติดเชื้อแบบไม่ค่อยมีอาการ
คาดว่าผู้เสียชีวิต เมื่อคิดเป็นร้อยละในระลอกที่ 4 จะต่ำกว่าการติดเชื้อในระลอกที่ 3
สรุป : การระบาดของระลอกต่างๆที่ผ่านมาของประเทศไทย ประกอบด้วย
1.ระลอกที่ 1 (Wave 1) ช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2563 ด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น ดำเนินการด้วยมาตรการเข้มงวดมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 4000 ราย เสียชีวิต 60 ราย
2.ระลอกที่ 2 (Wave 2) ช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564  ด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้มาตรการที่ผ่อนคลายไม่ได้เข้มเท่าระลอกที่ 1 จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็น 24,863 ราย แต่เสียชีวิตเพียง 34 ราย
3.ระลอกที่ 3 (Wave 3) ช่วงเมษายน-ธันวาคม 2564 เริ่มต้นด้วยสายพันธุ์อัลฟาในเดือนเมษายน และเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์เดลตาในเดือนมิถุนายน
ทำให้บางท่านเรียกแยกเป็นระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 แต่เมื่อดูจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจากไวรัสอัลฟาต่อด้วยเดลตา ไม่มีลักษณะการแยกระลอกที่ชัดเจน

โควิดระลอกต่างๆของไทย
ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอเรียกเป็นระลอกเดียวกัน คือ ระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2,185,849 ราย เสียชีวิต 21,536 ราย
ด้วยมาตรการผ่อนสั้นผ่อนยาว และค่อยทยอยเข้มเป็นลำดับ โดยได้ออกมาตรการคือ
28 มิ.ย.-11 ก.ค. .64 Partial Lockdown 
12-25 ก.ค. 64 Semi-lockdown 
20 ก.ค.-16 ส.ค. 64 Strict Lockdown
เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงมีมาตรการผ่อนคลาย โดยมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 8165 ราย เสียชีวิต 55 ราย
หนึ่งเดือนผ่านไป 1 ธันวาคม 2564 
ผู้ติดเชื้อ 4886 ราย เสียชีวิต 43 ราย
จุดต่ำสุด 28 ธันวาคม 2564 
ติดเชื้อ 2305 ราย เสียชีวิต 32 ราย
5 มกราคม 2565 ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 3899 ราย แต่ผู้เสียชีวิตยังคงเดินหน้าลดลงเหลือ 19 ราย
กล่าวโดยสรุปแล้ว ประเทศไทยได้เข้าสู่โควิดระลอกหรือเวฟใหม่ที่เรียกว่าระลอกที่ 4 (Wave 4) ภายใต้การนำของไวรัส Omicron ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
ส่วนจะกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน  จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเท่าไร คงจะต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของการระบาดของโควิด-19 ของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 4 โดยจะเป็นการเน้น การจำกัดการเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงต่างๆ รวมถึงอาจจะมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด 
หรือมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัยในสถานที่นั้น และการชะลอการเดินทางต่างๆ เช่น การเดินทางไปทำงาน การจำกัดการรวมกลุ่มต่างๆที่จะต้องมีข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อชะลอการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด