"โอมิครอน" ในไทยชะลอระบาดได้ในปี 65 หมอเฉลิมชัยแนะต้อง WFH 100% หลังปีใหม่

01 ม.ค. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 01:03 น.

โอมิครอน ในไทยชะลอระบาดได้ในปี 65 หมอเฉลิมชัยแนะต้อง WFH 100% หลังปีใหม่ ระบุเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อให้ทุกคนได้พ้นระยะฟักตัว

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ทำงานที่บ้าน (WFH) 100 % ช่วง 4-14 มค. 2565  อาจเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด ในการชะลอการระบาดของโอมิครอน (Omicron) ในปี 2565
จากกรณีความจำเป็น ที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคโควิด-19 (Covid-19) กับการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการทางธุรกิจ และการดำเนินวิถีชีวิตตามปกติได้อย่างพอเหมาะพอสมนั้น
ทั่วโลก จึงใช้มาตรการผ่อนสั้นผ่อนยาว ด้วยความเข้มงวดที่แตกต่างกันไป ตามความจำเป็นของแต่ละประเทศ ตลอดจนจังหวะการระบาดของไวรัส
โดยกลุ่มประเทศที่ใช้ความเข้มข้นสูงสุด ผ่อนสั้นผ่อนยาวน้อยที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน และนิวซีแลนด์
 

ส่วนประเทศที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวมากที่สุด ได้แก่ บางประเทศในยุโรป
ผลที่ปรากฏก็คือ กลุ่มประเทศที่เข้มงวดกวดขันมาก จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ผู้เสียชีวิตน้อย แต่จะกระทบเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก
จะต้องเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวต่ำ และสามารถพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศตนเองเป็นหลักได้
แต่อีกหลายประเทศ ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะมีรายได้หรือเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวหรือการนำเข้าส่งออกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

WFH อาจเป็นมาตรการสำคัญในการรับมือโอมิครอน
ลองมาทบทวนจังหวะผ่อนสั้นผ่อนยาวของประเทศไทยกันดูว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง และในเดือนมกราคม 2565 ควรจะเป็นเช่นไร
ระลอกที่ 1 เป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น เราใช้มาตรการเข้มงวดสูง มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างแรง
แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีมาก จบใน 59 วัน ( ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ) มีผู้ติดเชื้อรวม 4000 ราย เสียชีวิต 60 ราย
 

ระลอกที่ 2 ยังคงเป็นไวรัสอู่ฮั่น เราใช้มาตรการเข้มงวดปานกลาง ไม่มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวอย่างเต็มรูปแบบ จึงกระทบเศรษฐกิจไม่ค่อยมากนัก 
แต่ต้องแลกกับการมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 6 เท่า คือประมาณ 24,000 ราย เสียชีวิต 34 ราย ระยะเวลาที่จะควบคุมได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เดือนครึ่ง(กลางธันวาคม 2563-มีนาคม 2564)
ระลอกที่ 3 เริ่มต้นด้วยเป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟาในเดือนเมษายน 2564  แม้จะใช้มาตรการเข้มงวดเท่ากับระลอกที่ 2 แต่เนื่องจากเป็นไวรัสอัลฟา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่า 70%  จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก
ถัดมาอีกสองเดือนคือ มิถุนายน 2564 มีไวรัสสายพันธุ์เดลตาเข้ามา ซึ่งแพร่ระบาดเร็วกว่าอัลฟาเพิ่มอีก 60%
ทำให้มาตรการที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวดังกล่าว คุมสถานการณ์ได้ลำบาก จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564
โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นวันละ 20,000 รายเศษ และเสียชีวิตวันละกว่า 300 ราย
จึงต้องออกมาตรการเข้มงวดเป็นลำดับ จำนวนหลายรอบ จนสามารถคุมการติดเชื้อในระลอกที่ 3 นี้ได้
จึงเริ่มมีมาตรการผ่อนคลายที่สำคัญคือเปิดประเทศในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และคุมได้ดีจนถึงเดือนธันวาคม 2564

WFH อาจเป็นมาตรการสำคัญในการรับมือโอมิครอน
แต่แล้วก็มีไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลตา 2-5 เท่า  แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อย
ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการที่เข้มงวดปานกลางรวมทั้งประเทศไทยด้วย
โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ 31 ธันวาคม 2564 ถึง 3 มกราคม 2565 ประเทศไทยได้ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลาย ยอมให้มีการฉลองปีใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าต่อไปได้
และได้พยายามรณรงค์ ให้การเฉลิมฉลองนั้น มีความระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดยาวดังกล่าวนี้ คาดได้ว่าจะมีคนส่วนหนึ่งที่หย่อนวินัย ไปทานอาหาร สังสรรค์ ดื่มสุรา หรือร้องเพลงร่วมกัน ซึ่งก็จะเป็นโอกาสทำให้ไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดได้
เมื่อกลับมาจากปีใหม่แล้ว ก็จะนำมาซึ่งการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเล็กน้อย
จึงต้องใช้มาตรการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยควรใช้มาตรการให้ทุกคนทำงานจากที่บ้าน 100 % (Work From Home) ในช่วงวันที่ 4-14 มกราคม 2565
เพื่อให้ทุกคนได้พ้นระยะฟักตัวหลังจากไปเฉลิมฉลองปีใหม่มาแล้ว
ใครที่ติด Omicron ในช่วงนี้ ก็จะปรากฏอาการ และเข้าสู่ระบบรักษา
ส่วนใครที่ไม่ติด เมื่อพ้นระยะ 10 วัน ก็จะปลอดจากการติดเชื้อในช่วงฉลองปีใหม่ จะสามารถกลับมาทำงานได้
การทำงานจากที่บ้าน 100 % ดังกล่าว อาจเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้ เพื่อที่จะควบคุมการติดเชื้อที่ติดมาจากการฉลองปีใหม่  ไม่ให้เดือนมกราคม 2565 มีการระบาดรุนแรงทั่วไป
ให้ลดลงเป็นการติดเชื้อที่พอจะควบคุมได้ ให้ระบบสุขภาพสามารถรับมือได้ไหวต่อไป