สรุปแนวทางใหม่ "วัคซีนไฟเซอร์"สำหรับบุคลากรการแพทย์-ด่านหน้า

02 ส.ค. 2564 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 00:24 น.
1.5 k

สรุปแนวทางใหม่ การจัดสรร "วัคซีนไฟเซอร์"(Pfizer) 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ใครเข้าเกณฑ์มีสิทธิได้ฉีดบ้าง พร้อมตรวจสอบแผนกระจายวัคซีนที่ได้รับการบริจาคทั้งหมด 1,503,450 โดส

หลังจากประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์(Pfizer)จากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,503,450 โดส  ทางคณะกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด19 (Pfizer) ได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนไปยังบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ครอบคลุมทั้งผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ จำนวน 7 แสนโดส

 

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจากทั่วประเทศทุกคน รวมทั้งนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 จากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน กลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย พนักงานเก็บศพ หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด

 

สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขหน้าด่าน มีดังนี้

 

1.ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค(Siovac) หรือ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ครบ 2 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)กระตุ้น 1 เข็ม  (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 600,000 โดส)

 

2.ผู้ที่ฉีดวัคซีนใดใดแล้ว 1 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)เป็นเข็มที่ 2 (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 50,000 โดส)

 

3.ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนใดใดมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร 47,700 โดส)

 

4.ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 1 เข็ม ห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน (จำนวนที่ได้รับการจัดสรร  2,300 โดส)

แนวทางใหม่ "วัคซีนไฟเซอร์"สำหรับบุคลากรการแพทย์-ด่านหน้า

อย่างไรก็ตามบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือสูตรสลับไขว้ หรือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ต่อกรณีนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค  เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น 

 

เนื่องจากการฉีดทั้ง 3 แบบ ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ โดยให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ เมื่อมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน และมีวัคซีนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณาฉีดให้ต่อไป เพื่อให้บุคลากรด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจ ให้ประชาชนปลอดภัย ระบบดูแลรักษาผู้ป่วยไม่หย่อนลง

 

อนึ่ง ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,503,450 โดส และได้มีการจัดสรรกระจายวัคซีนดังนี้ 


กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าครอบคลุมทั้งผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ จำนวน 7 แสนโดส

 

กลุ่มที่ 2 ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด 645,000 โดส

 

กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา 150,000 โดส

 

กลุ่มที่ 4 เพื่อการศึกษาวิจัย 5,000  โดส 

 

กลุ่มที่ 5 สำรองส่วนกลางสำหรับควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์เบต้า 3,450 โดส  

วัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,503,450 โดส