"สุพัฒนพงษ์"ตรวจนิคมกรีนอุดรมั่นใจ"ฐานลงทุน"อีสานเหนือ

05 เม.ย. 2564 | 14:39 น.

"สุพัฒนพงษ์"นำทีมตรวจนิคมกรีนอุดร มั่นใจเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน โครงการเร่งโครงสร้างพื้นฐาน-สาธารณูปโภครับไฮสปีดจีน-ลาวเปิดหวูดปลายปีนี้ ขอรัฐจัดสิทธิประโยชน์บีโอไอเพิ่มตามเขตพื้นที่

"สุพัฒนพงษ์"นำทีมตรวจนิคมกรีนอุดร มั่นใจเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน เป็นฮับภูมิภาค โครงการเร่งโครงสร้างพื้นฐาน-สาธารณูปโภครับไฮสปีดจีน-ลาวเปิดหวูดปลายปีนี้ ขอรัฐจัดสิทธิประโยชน์บีโอไอเพิ่มตามเขตพื้นที่ 

  

รองนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่กำลังเร่งทำโครงสร้างพื้นฐาน เปิดให้นักลงทุนสร้างโรงงาน รับแผนเปิดบริการรถไฟไฮสปีดจีน-ลาวปลายปีนี้ ผู้ว่าการ กนอ. ชี้ นิคมอุดรธานีอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NeEC) เป็นฮับภูมิภาค และโครงข่ายเส้นทางสายไหมใหม่ทางทิศใต้   มั่นใจเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯพร้อมคณะ หารือผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี                

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 เม.ย.2564   นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี นายธีรยุทธ วานิชชัง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี  ซึ่งมีเป้าหมายเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวของภาคตะวันออกฉัยงเหนือ ดำเนินโครงการโดยบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ภายใต้การกำกับของ กนอ. เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 22  กุมภาพันธ์ 2564  ที่ คณะของนายธีรยุทธ วานิชชัง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่มาก่อนแล้ว  โดยครั้งนี้มีนายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกองเอกสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล  ประธานบริหารบริหารษัทฯและผู้บริหารโครงการ ให้การต้อนรับ 
    
               

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการ กนอ. เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ ว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการฯ กว่า 100,000 ล้านบาท 
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)     

แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 1,325 ไร่ มีแผนพัฒนาพร้อมเปิดดำเนินการในปลายปี 2564 และเฟส 2 จำนวน 845 ไร่ ที่มีแผนจะพัฒนาในช่วงปี 2565 – 2567 โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  
อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ให้มีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิด โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด 
             

ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงในเฟสแรก พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ โดยก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไปแล้วกว่า 75% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 รวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค (Logistics Park) พื้นที่ 600 ไร่ พร้อมอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่ 3 หลัง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  
           

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายของนิคมฯ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการฯยังมีพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ SMEs เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่น นอกจากนี้ยังจะเป็นศูนย์กลางโครงข่ายโลจิสติกส์ในภูมิภาคภาคอีสานและประเทศเพื้อนบ้าน 
  รองนายกฯนำคณะตรวจนิคมกรีนอุดรฯ            

ผู้บริหารนิคมกรีนอุดรยื่นขอรัฐพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชนฺ์การลงทุน(บีโอไอ) ตามหลักเกณฑ์พื้นที่(Zone Base)เพิ่มแรงจูงจใจนักลงทุน

ผวก.กนอ.กล่าวเสริมถึงความเข้มแข็งและจุดเด่นของโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีอีกว่า โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ทำเลที่เป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และอยู่ในแนวเส้นทางโครงการมุ่งสู่ทิศใต้ของจีน (One Belt One Road) ที่เชื่อมโยงและเป็นประตูระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทางการเดินทางขนส่งที่สำคัญ ๆ หลายเส้นทางของลาว ที่เข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ เวียดนามออกไปสู่ท่าเรือน้ำลึกและทะเลจีนใต้ออกไปยังภูมิถาคต่าง ๆ ของโลกได้ นอกจากที่จะใช้ท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง 
                     

การก่อสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์คือ โครงการรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งขณะนี้กำลังจะก่อสร้างในช่วงจากขอนแก่น-หนองคาย ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน โดยเฉพาะช่วงจีน-ลาว ที่มีการก่อสร้างใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดนทางประเทศลาวประกาศจะเปิดโครงการในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อฉลองวันชาติลาว 
    

อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น จากการที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ในศักยภาพของประเทศด้านการดูแลและป้องกันโรคดังกล่าว และการที่จังหวัดอุดรธานีได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) และนิคมฯอุดรธานี ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย จึงถือเป็นโอกาสและปัจจัยดี ที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมากขึ้น 
                   

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และมีความพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต แต่เพื่อเพิ่มศักยภาพและชักชวนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น  ทางผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้ขอรับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ด้วยการขอสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ตามประกาศบีโอไอที่ 1/2543 ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอื่น ๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้ง (Zone Based) ซึ่งเชื่อว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นแม่เหล็กดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติได้เป็นอย่างดี 
    

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจ NeEC ที่เน้นความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน (ในนิคมฯ) ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และ 60,000 คน นอกเขตนิคมฯและชุมชน ขณะเดียวกันก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรง สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว