ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 520.47 จุด เงินเฟ้อชะลอตัวหนุนคาดเฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย

01 ธ.ค. 2566 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2566 | 08:08 น.

ดัชนีดาวโจนส์ พุ่งขึ้นกว่า 500 จุด ในวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) ปิดที่ระดับ 35,950.89 จุด ทำนิวไฮนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,950.89 จุด เพิ่มขึ้น 520.47 จุด หรือ +1.47%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,567.80 จุด เพิ่มขึ้น 17.22 จุด หรือ +0.38% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,226.22 จุด ลดลง 32.27 จุด หรือ -0.23%

ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 และเมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนพ.ย. ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 8.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 ขณะที่ดัชนี S&P พุ่งขึ้น 8.9% และดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 10.7% โดยทั้ง 2 ดัชนีทำผลงานรายเดือนแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2565

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างคึกคักเมื่อคืนนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.4% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนต.ค. ชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.7%

 

ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ไรอัน เดริค นักวิเคราะห์จากบริษัท Carson Group กล่าวว่า "ตัวเลขดัชนี PCE ล่าสุดโดยเฉพาะดัชนี PCE พื้นฐานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว และเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐอีกต่อไป ข้อมูลดังกล่าวทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าก้าวต่อไปของเฟดคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า"

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. 2566, เดือนม.ค. 2567 และเดือนมี.ค. 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. 2567 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567

 

ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุด นำโดยหุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์, หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และหุ้นเมิร์ค แอนด์ โค

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง และได้ฉุดดัชนี Nasdaq ปิดตลาดในแดนลบ โดยหุ้นอินวิเดีย ร่วงลง 2.8% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ลดลง 1.5% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 1.9% หุ้นเทสลา ดิ่งลง 1.8%

หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ร่วงลง 3.1% หลังจากบริษัทเปิดเผยต้นทุนที่ต้องใช้ในการบรรลุข้อตกลงด้านแรงงานฉบับใหม่มูลค่า 8.8 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2566

หุ้นเซลส์ฟอร์ซ์ (Salesforce) ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 9.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรและรายได้ที่สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย

สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ลดลง 1.5% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แตะระดับ 71.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาบ้านที่แพงขึ้นจากการที่สต็อกบ้านอยู่ในระดับต่ำ

ราคาน้ำมัน WTI ร่วง 2.4% ปิด 75.96 ดอลล์ ผิดหวังโอเปกพลัสไร้ข้อสรุป

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในปี 2567

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.90 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 75.96 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดเดือนพ.ย.ปรับตัวลง 6.2%  ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 27 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 82.83 ดอลลาร์/บาร์เรล และตลอดเดือนพ.ย.ปรับตัวลง 5.2%

ราคาทองปิดลบ 9.90 ดอลล์ เงินดอลล์แข็งสกัดแรงซื้อ

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด  โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 9.90 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 2,057.20 ดอลลาร์/ออนซ์