สภาพัฒน์-สำนักงบประมาณ ประสานเสียงติงคลัง "เก็บภาษีขายหุ้น”

01 ธ.ค. 2565 | 13:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2565 | 20:26 น.
802

เกาะติดกรณี "เก็บภาษีขายหุ้น" สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ประสานเสียง ติงกระทรวงการคลัง ต้องติดตาม และประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด

จากกรณีมติครม. เห็นชอบการจัดเก็บ "ภาษีขายหุ้น" ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในอัตรา 0.10% จากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) แต่ในปีแรกจะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น 

 

โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่ .. พ.ศ. .... 

 

ล่าสุดมีการรายงานความเห็นของหน่วยงานสำคัญเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีขายหุ้น ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ โดยทำความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เป็นข้อเสนอและเพิ่มเติมให้กับกระทรวงการคลังรับไปพิจารณา มีรายละเอียดดังนี้

 

ภาพประกอบข่าวการจัดเก็บ "ภาษีขายหุ้น"

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า เห็นควรให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการปรับปรุง กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการ สร้างความเป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล อย่างไรก็ดี สศช. มีข้อสังเกตและ ความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

 

1.ในกรณีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กับกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ให้สำนักงานประกันสังคม และกองทุนบำนาญ ซึ่งได้แก่ 

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ 
  • กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 
  • กองทุนการออมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนการออมแห่งชาติ 

 

ทั้งนี้อาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะที่เป็นการส่งเสริม การออมเพื่อการเกษียณอายุ นอกจากนี้เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวน จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินผลกระทบของมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

ภาพประกอบข่าวการจัดเก็บ "ภาษีขายหุ้น"

สำนักงบประมาณ

 

พิจารณาแล้ว  เห็นว่าเรื่องนี้ จะเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย และการออมเพื่อการเกษียณอายุ โดยกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บประมาณ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ ไป ของการจัดเก็บ ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท 

 

ดังนั้น หากกระทรวงการคลังได้ดำเนินการตามนัยมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ก็เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ

 

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เห็นสมควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์ความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก 

 

รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้ เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ พร้อมติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าว ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

 

ธปท.รอประเมินผลกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

ก่อนหน้านี้ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นถึงเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น ว่าจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ โดยยอมรับว่า ในช่วงแรกอาจจะมีการปรับตัวบ้าง แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการทำงานของตลาดทุน ซึ่งต่างประเทศก็จะมีการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้อยู่แล้ว 

 

พร้อมระบุว่า ในประเด็นนี้ ก็ต้องประเมินในระยะต่อไป ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังมีเงินไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์ ประมาณ 5,000 ล้านบาท