ส่งออกไทยสู้ศึก “ทรัมป์” ครึ่งปีแรก คาดยังโตได้ 2% จับตา 4 ปีสหรัฐคุมค้าโลก

21 ก.พ. 2568 | 05:19 น.

แค่เริ่มต้นปี ภาคการส่งออกของไทย และของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา ต้องพากันอกสั่นขวัญแขวนจากนโยบายที่ประกาศรายวันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเลิกให้แต้มต่อด้านภาษีนำเข้าแก่ประเทศคู่ค้า และประกาศจะเก็บภาษีในอัตราเท่าเทียม

ทั้งนี้เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ที่ตัวเลขในปีที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้ากับทั่วโลกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีความชัดเจนแล้ว สหรัฐได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามด้วยวันที่ 12 มีนาคม จะเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลก 25% และในวันที่ 2 เมษายน จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์อีก 25% รวมถึงจะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ยา และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เริ่มต้นที่ 25% ซึ่งยังไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนของการปรับขึ้นภาษีในส่วนนี้

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าที่จุดชนวนรอบใหม่โดยสหรัฐ และกำลังลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และจะตั้งรับหรือรุกอย่างไร “นายชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างมีนัยสำคัญ

Q1 ยังเอาตัวรอด Q2 เริ่มกระทบ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท.ยังคาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ จะยังขยายตัวได้ประมาณ 2% เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐในบางสินค้าของไทยจะเริ่มต้นในปลายไตรมาสแรก อย่างไรก็ดีการเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้าในหลายรายการของสหรัฐ จะเป็นตัวเร่งให้คู่ค้าในสหรัฐเร่งนำเข้าสินค้าในบางกลุ่ม อาทิ สินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา พอมีกระแสข่าวทรัมป์จะได้รับชัยชนะและจะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ โดยทรัมป์ประกาศระหว่างการหาเสียงจะขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก

ส่งออกไทยสู้ศึก “ทรัมป์” ครึ่งปีแรก คาดยังโตได้ 2% จับตา 4 ปีสหรัฐคุมค้าโลก

ส่งผลให้สหรัฐเร่งนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์และทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ มีผลให้ตัวเลขการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยไปสหรัฐในครึ่งหลังปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากคู่ค้ามีการนำเข้าล่วงหน้า และมีผลให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐในภาพรวมปี 2567 ขยายตัวถึง 14%

“จากภาษีนำเข้าที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากคู่ค้าเริ่มมีความชัดเจน มองว่าจะเป็นตัวเร่งให้สหรัฐเร่งนำเข้าในกลุ่มสินค้าข้างต้นอีกครั้ง รวมถึงในหลายกลุ่มสินค้า ก่อนที่อัตราภาษีนำเข้าจะถูกปรับขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าไทยน่าจะประคองตัวเลขมูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ที่ประมาณ 2% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนในไตรมาสที่ 2 จากความกังวลและความไม่เชื่อมั่นของผู้นำเข้าในหลายประเทศต่อนโยบายการค้าของสหรัฐ อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลง ซึ่งตัวเลขอาจจะไม่เติบโต หรือจะขยายตัวได้ประมาณ 1% และในช่วงครึ่งปีแรกเราหวังส่งออกไทยจะยังโตได้ระดับ 2%”

หวังสินค้าเกษตรช่วยพยุง

อย่างไรก็ดีในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ไทยจะได้สินค้าเกษตรประเภทผลไม้มาช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก ช่วยลดความเสี่ยงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่อาจชะลอตัวลง เช่น ในสินค้าทุเรียน และผลไม้ต่าง ๆ ที่ไทยมีตลาดใหญ่ที่จีน ดังนั้นไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาสารตกค้าง BY2 ในทุเรียน เพื่อไม่ให้การส่งออกสะดุดในช่วงที่ทุเรียนไทยจะออกมามาก

อย่างไรก็ตามหากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐยังเป็นเช่นนี้ และลากยาวถึงครึ่งปีหลัง หากไทยยังสามารถประคับประคองความเป็นกลางทางการค้า และสามารถเจรจากับสหรัฐได้ และหาตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเสริมสร้างสินค้าเกษตรและอาหารให้มีศักยภาพส่งออกได้เพิ่มขึ้น และส่งออกไปตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยได้เพิ่มขึ้น เช่น RCEP คาดปีนี้การส่งออกของไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 1-3%

สหรัฐคุมเกมค้าโลกแทนจีน

นายชัยชาญ ระบุอีกว่า นับจากนี้ไปมองว่าสหรัฐในยุค “ทรัมป์ 2.0”จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมการค้าโลก (Game Changer) แทนจีนที่มีอิทธิพลต่อการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างทรัมป์ยังให้การสนับสนุนพลังงานฟอสซิล สนับสนุนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถที่ใช้นํ้ามัน ลดการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่มีจีนเป็นผู้นำในสินค้ากลุ่มนี้ และไม่สนับสนุนลดโลกร้อน ซึ่งสวนกับทิศทางโลก

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วงทรัมป์ 1.0 (ม.ค.2560-ม.ค. 2564) และทรัมป์ 2.0 (ม.ค. 2568 -ม.ค. 2571) ที่มีผลกระทบต่อโลก สามารถสรุปได้ใน 4 ประเด็น คือ 1.เศรษฐกิจโลกช่วงทรัมป์ 1.0 ไม่สาหัสเหมือนวันนี้ โดยเศรษฐกิจโลกในสมัยทรัมป์ 1.0 ยังไปได้ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังบอบชํ้าและชะลอตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด และจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะมาเจอกับสงครามการค้าอีกในครั้งนี้อาจจะยิ่งไปกันใหญ่

2.สมัยทรัมป์ 1.0 ทั่วโลกยังมีความสุขกับการเจรจา และการจัดความตกลงการค้าเสรี(FTA) แต่สมัยทรัมป์ 2.0 สหรัฐจะเป็นผู้เปลี่ยนเกมใหม่ โดยขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าจากทั่วโลกที่ส่งไปสหรัฐ

3.ซัพพลายเชนการผลิต และการค้าโลกจะเปลี่ยนไป จากสหรัฐจะยึดถือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก (America First)

4.สงครามเทคโนโลยีสมัยทรัมป์ 1.0 จะมุ่งไปที่จีนอย่างเดียว แต่ปัจจุบันจะลามถึงทุกประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐ เห็นได้จากการเตรียมขึ้นภาษีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

“จากนี้ถือว่าสหรัฐทำสงครามการค้ากับทั่วโลก โดยทำทั้งสองมิติคือ ในแง่ประเทศ และในแง่ตัวสินค้า และจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแห่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และการค้าโลกนับจากนี้ไปอีก 4 ปี” นายชัยชาญ กล่าว