สำหรับในปี 2568 สภาพัฒน์ประมาณการจีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 2.3-3.3% หรือค่ากลางที่ 2.8%(รวมผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว) โดยคาดการณ์การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.3% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดขยายตัว 1.3% การลงทุนภาคเอกชนคาดจะขยายตัว 3.2% การลงทุนภาครัฐคาดจะขยายตัว 4.7% มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐคาดจะขยายตัว 3.5%(จากปีที่แล้วส่งออกไทยขยายตัว 5.8%) และภาคการท่องเที่ยวและบริการยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้คาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีไทยในปี 2568 ของสภาพัฒน์ที่ 2.8% อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่มีการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ได้คงประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยในปี 2568 ไว้ที่ 2.4-2.9% ส่วนการส่งออกคาดจะขยายตัวได้ 1.5-2.5% ขณะที่เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนคาดปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2-3%
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาภาคการส่งออกของไทย ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศเกือบ 60% และเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาพรวมปีนี้ถือมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก เฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐในยุค “ทรัมป์ 2.0” ที่ได้ประกาศนโยบายออกมาในหลายเรื่องที่ถือเป็นการจัดระเบียบการค้าใหม่ของโลก โดยยึดผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อน(America First) เลิกให้แต้มต่อด้านภาษีแก่ประเทศคู่ค้า และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เพื่อลดการขาดดุลการค้าที่ระบุในปี 2567 สหรัฐขาดดุลการค้ากับทั่วโลกถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุด นโยบายที่มีความชัดเจนแล้ว ทรัมป์ ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียม จากทุกประเทศในอัตรา 25% (มีผลบังคับใช้ 12 มี.ค. 68) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกเหล็กอันดับ 1 ของไทยไม่มากก็น้อย (ปี 2567 ไทยส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐ 42,375 ล้านบาท) ตามด้วยการเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีก 25% คาดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยไปสหรัฐที่ในปี 2567 ล่าสุด ไทยมีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปสหรัฐ มูลค่า 66,525 ล้านบาท
นอกจากนี้ทรัมป์ ยังประกาศจะเก็บภาษีในอัตราเท่าเทียมสำหรับในกลุ่มสินค้าเดียวกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งมีหลายกลุ่มสินค้าของไทยที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐสูงกว่าที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากไทย อาจถูกปรับขึ้นภาษีในอัตราเท่าเทียม เช่น รถยนต์นั่งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋อง เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ยังไม่นับรวมถึงสินค้าอีก 29 รายการที่เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐอาจถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม และอีกหลาย ๆ มาตรการทางการค้าที่ทรัมป์ออกมาขู่เป็นรายวัน เพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีมาตรการรองรับทั้งมาตรการเชิงรับและเชิงรุกที่ดี และทำให้เป็นที่พอใจของทางสหรัฐ ก็มีโอกาสสูงที่การส่งออกของไทยไปสหรัฐ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปีนี้จะขยายตัวลดลง (ปี 2567 สหรัฐเป็นตลาดส่งออกของไทยสัดส่วน 18% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ 1.92 ล้านล้านบาท ขยายตัว 15.6%)
นอกจากนี้ผลกระทบที่จะตามมา จากนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้ซัพพลายเชนของโลกทั้งด้านการผลิต และการส่งออกเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากแต่ละประเทศจะต้องวิ่งหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยผลกระทบจากการใช้มาตรการของสหรัฐ จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง ระหว่างสินค้าไทยกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ในตลาดใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐ เฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับสินค้าจากจีน และเวียดนาม ที่เป็นโรงงานผลิตของโลก รวมถึงกับสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนด้วยกันเอง
แค่ภาคการส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ส่อจะสะดุด ตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นสัญญาณเตือนจีดีพีของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายคงไม่ง่าย ซึ่งภาครัฐและเอกชนคงต้องประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อฝ่าฟันความผวนไปให้ได้ ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทย