สภาพัฒน์ ผ่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทยหนัก 4 ทิศ

17 ก.พ. 2568 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2568 | 12:52 น.

สภาพัฒน์ ประเมินผลกระทบนโยบาย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ 2.0 สงครามการค้า สหรัฐ-จีน เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยหนัก โดยถูกส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางสำคัญ เช็คข้อมูลเชิงลึกได้ที่นี่

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ข้อมูลเศรษฐกิจในปี 2568 โดยเฉพาะผลกระทบเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยประเมินว่า 

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม 25% รวมทั้งออกภาษีศุลกากรแบบตอบโต้กับทุกประเทศ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเจรจาการค้าอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศเสี่ยง เพราะในปี 2567 ที่ผ่านมาดุลการค้าของไทย เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 11 เมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ

ทั้งนี้ สศช. ประเมินว่า การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ 14195 เรื่อง “การกำหนดอากรเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (Imposing Duties to Address the Synthetic Opioid Supply Chain in the People's Republic of China)" ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 

โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า “สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของจีนเพิ่มเติมร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้า (ad valorem duty) โดยมีผลตั้งแต่ เวลา 12:01 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568” 

 

สภาพัฒน์ ผ่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทยหนัก 4 ทิศ

 

ทั้งนี้หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศการเก็บภาษีจากจีนเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 จีนก็ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลายประเภท เพื่อตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ ในหลายรายการ ได้แก่ กลุ่มถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 15% และน้ำมันดิบ เครื่องจักรทาง การเกษตร และสินค้ารถยนต์บางประเภทเพิ่มขึ้น 10% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 นี้เป็นต้นไป

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทิศทางการดำเนินมาตรการในระยะต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมการในการรับมือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันท่วงที 

 

สภาพัฒน์ ผ่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทยหนัก 4 ทิศ

 

ทั้งนี้ จากการประเมินช่องทางการส่งผ่านของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้น คาดว่า ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะถูกส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทางสำคัญ ได้แก่ 

  1. ผลกระทบผ่านการส่งออกสินค้าของไทยผ่านห่วงโซ่การผลิต 
  2. ผลกระทบผ่านการระบายสินค้าส่งออกของจีนมายังไทย 
  3. ผลกระทบจากการที่ไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดจากตลาด ASEAN 
  4. ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงจากไทย

โดยมีรายละเอียดแต่ละช่องทาง ดังนี้

ผลกระทบผ่านการส่งออกของไทยผ่านห่วงโซ่การผลิต 

เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า กับจีน จะส่งผลให้จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าขั้นกลางในห่วงโซ่การผลิตของจีนมีโอกาสที่จะลดลงด้วย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของจีน ได้แก่ รถยนต์นั่งและ คอมพิวเตอร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบว่า ภายหลังจากที่จีนส่งออกยานยนต์ไป สหรัฐฯ ลดลง 8.7% พบว่า ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังจีนลดลง 19.5% 

โดยที่ชิ้นส่วนยานยนต์สำคัญ ๆ ที่ไทยส่งออกไปจีนลดลง เช่น ยางรถยนต์ (ลดลง 12.8%) Airbag (ลดลง 14.4%) แผงหน้าปัด (ลดลง 30%) ตัวถัง (ลดลง 14.5%) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังพบว่า จีนส่งออกคอมพิวเตอร์ไปสหรัฐฯ ลดลง 22.2% ส่วนไทยก็ส่งออกสินค้าที่เป็นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ไปจีนลดลง 9.1% เช่นกัน โดยส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่ไทยส่งออกไปจีนลดลง เช่น Hard Disk Drive (ลดลง 14.4%) เครื่องแปลงไฟฟ้า (ลดลง 34%) และพัดลม สำหรับคอมพิวเตอร์ (ลดลง 2.3%) เป็นต้น

ผลกระทบจากการที่จีนระบายสินค้าส่งออกมายังไทย 

เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่งผลให้มีแนวโน้ม ที่จีนจะระบายสินค้าที่ผลิตไว้ไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย โดยอาศัยความได้เปรียบของการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำ สะท้อนจากราคานำเข้าของไทยที่ลดลง 
ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น สินค้าที่คาดว่าจีนจะมีการระบายออกมายังไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น ลำโพง โทรทัศน์ พัดลม กระเป๋า เป็นต้น 
  2. สินค้าส่วนประกอบขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ พวงมาลัยรถยนต์ ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ เป็นต้น 
  3. วัตถุดิบ เช่น เหล็กม้วนกลม เหล็กโครงสร้าง อะลูมิเนียม ท่อเหล็ก เป็นต้น

ผลกระทบจากการที่ไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดจากตลาด ASEAN 

เมื่อจีน ส่งออกไปยังสหรัฐฯ น้อยลง จึงมีแนวโน้มที่จีนจะส่งออกสินค้าไปยังตลาด ASEAN ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย โดยสินค้าที่คาดว่าจะเข้าข่ายที่ไทยอาจจะต้อง เสียส่วนแบ่งตลาด ASEAN ให้จีน เช่น รถยนต์นั่งและชิ้นส่วน รถกระบะและชิ้นส่วน แผงวงจรรวม เป็นต้น

ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงจากไทย 

เนื่องจากในระยะถัดไป มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตราที่ประเทศต่าง ๆ เรียกเก็บต่อสหรัฐ (reciprocal tariffs) ซึ่งหากดำเนินการเช่นนั้นจริง คาดว่าสินค้าไทยน่าจะมีแนวโน้มถูกเก็บภาษีเพิ่มหลายรายการ ที่สำคัญ อาทิ 

  • กลุ่มอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
  • กลุ่มเครื่องจักรเครื่องมือ 
  • สินค้าในกลุ่มยานยนต์
  • กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติก 
  • กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์จากเหล็ก 

โดยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ของสินค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ รวมอยู่ที่ 65.5% ของมูลค่าการส่งออก ไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด

 

สภาพัฒน์ ผ่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 เสี่ยงทุบเศรษฐกิจไทยหนัก 4 ทิศ

 

สรุป สศช.ประเมินว่า ภายใต้ทิศทางการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจ ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นจากในปัจจุบันที่เริ่มมีการดำเนินการบังคับใช้มาตรการบางส่วนแล้วผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมการในการรับมือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันท่วงที