เหรียญสองด้าน “ทรัมป์ 2.0” โอกาส-ความท้าทายที่ไทยต้องรับมือ

14 ก.พ. 2568 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 10:49 น.

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ประธาน กนอ. ประเมินโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทย ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 จับตานักลงทุนย้ายฐานการผลิต เปิดประตูเจรจาการค้าทวิภาคี รับมือห่วงโซ่อุปทานโลก-ค่าเงินผันผวน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงประเด็นโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้นโยบาย Trump 2.0 ว่า นโยบาย Trump 2.0 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับไทย โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ การค้า และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลและภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนรับมือ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

สำหรับด้าน "โอกาส" นายยุทธศักดิ์ มองว่า โอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยอาจจะได้รับภายใต้นโยบาย Trump 2.0 มีด้วยกัน 5 เรื่อง ดังนี้

1.การย้ายฐานการผลิตจากจีน (China+1 Strategy) หากสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนเพิ่มเติมด้วยนโยบายที่แข็งกร้าว เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าหรือการกดดันให้ลดการพึ่งพาจีน อาจทำให้บริษัทสัญชาติต่าง ๆ เช่น อเมริกัน จีน และบริษัทข้ามชาติ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น

ทั้งนี้ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากบริษัทเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรกล

2.โอกาสในการเจรจาการค้าทวิภาคี (Bilateral Trade Agreements) เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับข้อตกลงการค้าทวิภาคี ไทยต้องเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่กับสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการส่งออกและลดอุปสรรคทางการค้า โดยสินค้าจากไทย เช่น สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี อาจได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ

3.การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งหากสหรัฐฯ เปิดตลาดเกษตรมากขึ้นหรือลดกำแพงภาษีให้ไทย ไทยก็สามารถใช้โอกาสนี้ขยายตลาดสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเล และผลไม้ ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

4.การส่งออกพลังงานราคาถูก สหรัฐฯ อาจลดการควบคุมด้านพลังงาน ทำให้มีการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาถูกเพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ซึ่งไทยควรฉวยโอกาสนี้ในการนำเข้าพลังงานในราคาที่ถูกลง ลดต้นทุนการผลิต ส่งผลทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย

5.การสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและเทคโนโลยี ประธานาธิบดีทรัมป์ มีนโยบายเพิ่มงบประมาณทางทหาร เป็นโอกาสให้ไทยพัฒนาความร่วมมือด้านกลาโหม เช่น การผลิตยุทโธปกรณ์ การซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมทางทหาร รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น AI และความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยอาจได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสหรัฐฯ ที่ต้องการขยายตลาด

 

เหรียญสองด้าน “ทรัมป์ 2.0” โอกาส-ความท้าทายที่ไทยต้องรับมือ

 

ขณะที่ "ความท้าทาย" มองว่า ประเทศไทยมีความท้าทายภายใต้ภายใต้นโยบาย Trump 2.0 อย่างน้อย 5 เรื่องเช่นกัน นั่นคือ 

1.การถอนตัวหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ด้วยนโยบาย America First อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดความผันผวนได้ เช่น นโยบายภาษีและมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ กับหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม อาจกระทบกับห่วงโซ่อุปทานที่ไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ

2.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจแข็งค่าขึ้น ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทปรับค่าอ่อนลง ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อเศรษฐกิจไทย กอปรกับความไม่แน่นอนในตลาดเงินและตลาดทุนของโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามการค้าหรือมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรง อาจส่งผลทำให้ค่าเงินบาทผันผวนและต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดทุนไทยอาจได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ

3.การเพิ่มข้อจำกัดด้านการส่งออกเทคโนโลยี โดยเฉพาะการส่งออกชิปและเซมิคอนดักเตอร์ อาจทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน และทำให้ไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม

4.การผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน อาจส่งผลให้สินค้าไทยเผชิญแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

5.นโยบายแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ การเลือกข้างในความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจ อาจสร้างความกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทยได้

 

เหรียญสองด้าน “ทรัมป์ 2.0” โอกาส-ความท้าทายที่ไทยต้องรับมือ

 

นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนและการค้าที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย Trump 2.0 แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การปรับตัวเชิงรุก เช่น การเร่งรัดการลงทุนจากบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษและมาตรการจูงใจนักลงทุนเพิ่มเติมให้แก่บริษัทที่ย้ายฐานจากจีน 

เช่นเดียวกับการผลักดันข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ การกระจายความเสี่ยงด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต และการรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเป็นกุญแจสำคัญให้ไทยสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป