จับตา 29 กลุ่มสินค้าเสี่ยงถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องรับมือ

11 ก.พ. 2568 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2568 | 14:55 น.

สนค. เตรียมรับมือผลกระทบ ชี้สินค้าเสี่ยงกว่า 29 กลุ่มเสี่ยง เร่งตั้งคณะทำงานศึกษาและเจรจาการค้า รักษาตลาดเดิมควบคู่ขยายตลาดใหม่ หวังลดการพึ่งพาสหรัฐฯ

สร้างความหวาดผวาไปทั้งโลก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมขึ้นภาษีนำเข้ากับหลายประเทศที่เก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเทศไทยก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะปัจจุบันสหรัฐมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าไทยในอัตราที่ต่ำอยู่ในช่วง 0-7% ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐในอัตราที่สูงกว่าอยู่ในช่วง 10-30% และปธน.ทรัมป์ ยังประกาศเตรียมเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมอีกด้วย

จากแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการติดตามนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดรวมถึงการเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก สำหรับเตรียมความพร้อมและรับมือกับนโยบาย และมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ของสหรัฐฯ เพื่อให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

โดยเมื่อเดือนมกราคม 2568 นายกรัฐมตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่ศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯสำหรับเตรียมการรองรับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 

ล่าสุดคณะทำงานฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การเจรจาการค้าต่างตอบแทนกับคณะผู้บริหาระดับสูงของสหรัฐฯ ในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลกับไทย จึงอาจเรียกร้องให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นสินค้าที่ไทยและสหรัฐฯ ต่างได้ประโยชน์และสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิตซึ่งกันและกันได้ 

ขณะที่สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ไทยนำเข้าสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดกับสหรัฐฯ เช่น ในกลุ่มสินค้าเกษตรซึ่งในกรณีนี้จะพยายามเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดในประเทศให้น้อยที่สุด 

นอกจากนี้ ไทยอาจขอให้สหรัฐฯ ปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และพิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิ GSP ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดทางให้ประเทศอื่น ๆ เจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดการสูญเสียของสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายขึ้นภาษี ซึ่งอาจนำมาซึ่งมาตรการทางภาษีศุลกากรที่ยืดหยุ่นขึ้นหรือลดหย่อนลงกับประเทศต่าง 

สำหรับแนวทางในขณะนี้คือ การรักษาตลาดเดิมกับสหรัฐฯด้วยนโยบาย "รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่"เพื่อกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ตลาดจีนตอนใต้ ตลาดอินเดีย และตลาดตะวันออกกลาง เป็นต้น ควบคู่ไปกัปกับการเรัดการเจรจาFTA ฉบับใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

29 กลุ่มสินค้า เสี่ยงกระทบหนัก

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศไทยที่เก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ สินค้าที่จะรับผลกระหนักจะเป็นสินค้าที่เกินดุลมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 - 66) ดังนี้

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ
  • เครื่องโทรศัพท์มือถือ 
  • ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์)
  • ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่
  • หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ 
  • เครื่องปรับอากาศ
  • เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน
  • เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์
  • วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์
  • เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณและส่วนประกอบ

นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน เช่น 

  • เครื่องจักรไฟฟ้า 
  • ตู้เย็น 
  • ตู้แช่แข็ง 
  • เฟอร์นิเจอร์ และส่วนประกอบ 
  • ผลิตภัณฑ์จากไม้ 

รวมถึงสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้ 

สนค. หาทางรับมือเชิงนโนบาย

ขณะเดียวกันปัจจุบันทรัมป์ประกาศเปลี่ยนกติกาเก็บภาษีนั้น โดยล่าสุดประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ซึ่งทางสนค.จะมีการรับมือเชิงนโยบาย โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียด ทั้งในด้านโครงสร้างต้นทุนรายสินค้า การประเมินความสามารถในการแข่งขันหลังการปรับภาษี และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งอัตราภาษีปัจจุบัน การเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีกับประเทศคู่แข่ง และการติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี

ทั้งนี้ ต้องมีการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ให้มีความยึดหยุ่นและพึงพาตลาดสหรัฐฯ น้อยลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่น

โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา โดยต้องมีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาดอย่างละเอียด พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละตลาด และสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

ปรับแนวเจรจาการค้า

ขณะที่ การเจรจาการค้า มุ่งเน้นการเจรจาขอโควตาพิเศษสำหรับสินค้าสำคัญ และการกำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับสินค้าบางประเภท พร้อมทั้งวางแผนการทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีให้สอดดคล้องกับระยะเวลาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม และสร้างกลไกชดเชยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นความร่วมมือระดับภูมิภาค ผลักดันให้อาเชียนกำหนดท่าทีและมาตรการรับมือร่วมกัน 

เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน การรวมกลุ่มจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค พร้อมกันนี้ ควรเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นมากขึ้น

สำหรับการส่งออกสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ของประเทศไทยไปยังสหรัฐปีที่ผ่านมา 2567 พบว่า การส่งออก เหล็ก เหล็กกล้า มีมูลค่า 1,205.23 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วนการส่งออก 18.16% อัตรการขยายตัว -19.34% ขณะที่ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มีมูลค่าการส่งออกรวม 437.87 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 13.97% อัตราการขยายตัว -74.19%