จากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทย เริ่มจากเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม 25% ระบุจะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2568 และจ่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์จากทั่วโลก(ยังไม่ระบุอัตราภาษี) คาดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายนนี้
นอกจากนี้ยังประกาศเตรียมปรับขึ้นภาษีเท่าเทียมสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลให้หลายสินค้าของไทยได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ในกลุ่มสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ในปี 2567 ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 42,375 ล้านบาท โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มสินค้านี้ อลูมิเนียมไทยส่งออกไปสหรัฐ 15,347 ล้านบาท โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ในสินค้ากลุ่มนี้ของไทย
ส่วนรถยนต์นั่งไทยส่งออกไปสหรัฐ 11,194 ล้านบาท (320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ยางยานพาหนะ หรือยางล้อรถยนต์ ไทยส่งออกไปสหรัฐ 123,816 ล้านบาท ทั้งนี้หากทุกสินค้าที่กล่าวมาถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษีย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐมีต้นทุนที่สูงขึ้น จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ยังผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลงในปีนี้
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐ คงต้องรอดูความชัดเจนว่านโยบายดังกล่าวจะประกาศหรือบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อไร หรือว่าจะมีการเจรจาต่อรองพูดคุยกันเป็นรายประเทศต่อไปในอนาคต ตรงจุดนี้คงต้องจับตา
อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปสหรัฐ มูลค่า 320 ดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 98% เมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็เติบโตเช่นเดียวกัน สิ่งที่ต้องกังวลคือ หากสหรัฐมีนโยบายปรับขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าของไทย อาทิ เม็กซิโก แคนาดา คาดจะส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม เพราะไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปเม็กซิโกในปีที่ผ่านมา มูลค่า 612 ล้านดอลลาร์ (21,581 ล้านบาท) และส่งออกไปแคนาดา 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท)
“ถ้าอเมริกาขึ้นภาษีเม็กซิโก ก็จะกระทบทำให้ยอดผลิตและส่งออกของเม็กซิโกลดลง และเมื่อรายได้เขาลดลง ก็อาจจะกระทบกับเรา ที่จะส่งสินค้าไปประเทศเขาได้ลดลงตามไปด้วย”
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า การประกาศจะปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์จะกระทบกับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยหรือไม่ ต้องรอดูความชัดเจนจากนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง หากปรับขึ้นภาษีเท่าเทียมก็กระทบกันหมด หรือหากขึ้นเฉพาะรายประเทศ ก็ต้องมาดูช่องว่างว่าไทยจะได้โอกาสหรือประโยชน์จากตรงนี้หรือไม่
“กรณีที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนในอัตราที่สูงขึ้น ตรงจุดนี้ไทยอาจจะได้ประโยชน์ ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ก็มีการพูดคุยกับภาครัฐ มีการเดินสายไปสหรัฐฯเพื่อไปจับคู่ธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ได้คู่ค้าใหม่กลับมา”
อย่างไรก็ดีเวลานี้ผู้ประกอบการของสหรัฐ มีการขยับมองหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ ทดแทนการนำเข้าจากจีน โดยพุ่งเป้าไปที่อินเดีย เวียดนาม รวมถึงไทย โดยเฉพาะอินเดียที่ต้นทุนถูก ส่วนไทยต้นทุนสูงทั้งเรื่องค่าแรง วัตถุดิบที่ต้องนำเข้าในหลายสินค้า
“เราอาจจะต้องพูดคุยกับภาครัฐฯเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยอาจจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันอยากให้รัฐฯสนับสนุน ICE (รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน) เพราะล่าสุดสหรัฐฯก็ประกาศยังให้การสนับสนุน ICE เพราะรถน้ำมันก็ยังมีความต้องการ ซึ่งICE ไม่มีทางหมดโลก โดยอาจจะอยู่ไปถึง 40-50 ปี ดังนั้นมองว่าเราควรเป็นฐานการผลิตต่อไป และทำควบคู่กับ xEV(รถยนต์ไฟฟ้า)”
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ เผยว่า หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐ คือ ยางรถยนต์ ด้วยมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี (ปี 2567 ไทยส่งออก 123,816 ล้านบาท) มีโอกาสได้รับผลกระทบ หากมีการขึ้นกำแพงภาษี และยังไม่รวมปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ที่จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐลดลง
ที่ผ่านมา ยางรถยนต์บางรายการ เคยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ แต่ก็อาจจะมีผู้ประกอบการ(โรงงานผลิตในไทย) ถูกขึ้นภาษีตั้งแต่ 14-21% ตามมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากการทุ่มตลาด ซึ่งจะเห็นว่าไทยที่ส่งออกยางรถยนต์ไปสหรัฐในลำดับต้น ๆ ก็ถูกจับตาเรื่องการทำธุรกิจมาโดยตลอด
“บริษัท ยังต้องรอความชัดเจนของมาตรการกำแพงภาษี และพูดคุยกับบริษัทแม่อีกครั้ง แต่ตามแผนระยะยาวเราจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับตลาด OEM ในประเทศ และส่งออก” แหล่งข่าว กล่าว
สอดคล้องกับรายงานของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ว่า บริษัทยังต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ ส่วนเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้า ปีนี้ คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับภาวะทรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้โตโยต้า ตั้งเป้าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 336,184 คัน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2568 อยู่ที่ 537,860 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีที่ผ่านมา
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ณ ปัจจุบันสหรัฐยังไม่มีการปรับขึ้นภาษีสินค้าไทย การส่งออกของไทยไปสหรัฐยังเป็นไปตามปกติ ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกของไทยไปทั่วโลกในภาพรวมไตรมาสแรกของปีนี้ จะยังขยายตัวได้ที่ประมาณ 2% หากมาตรการด้านภาษีของสหรัฐมีความชัดเจนและมีการปรับขึ้นอาจจะส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1% และในภาพรวมครึ่งปีแรกน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2%
ส่วนทิศทางแนวโน้มการส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีนี้ มองว่ามีปัจจัยเสี่ยง และความไม่แน่นอนสูง เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถือเป็นผู้เปลี่ยนเกมการค้าโลก (Game Changer) จากจีนมาเป็นสหรัฐ ที่ประกาศนโยบายออกมารายวัน จะทำให้เศรษฐกิจ การค้าโลกเกิดความปั่นป่วนและกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดีในปีนี้คาดการส่งออกของไทยจะยังขยายตัวได้ในกรอบ 1-3% ซึ่งไทยคงต้องลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ แสวงหาตลาดใหม่ รวมทั้งการใช้ตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี(FTA) แล้วให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในกรอบ RCEP ที่มีสมาชิกมากถึง 15 ประเทศ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ 2.8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่แต่ละสำนักจะประเมินตัวเลขที่แตกต่างกัน และมีสมมุติฐานที่ต่างกัน ซึ่งกระทรวงการคลังเอง ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 3% และจำเป็นต้องเร่งทำให้ได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่แนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ รัฐบาลจะมีแนวคิดดึงเงินส่วนหนึ่งของโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1.5 แสนล้านบาทมากระตุ้นการลงทุนหรือไม่นั้น เห็นว่า จะต้องประเมินสถานการร์อีกครั้งว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จะกระจายเงินในลักษณะใด เพื่อรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ
ส่วนตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวลงในปี 2567 นั้น รัฐบาลมองว่า เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อน้อยกว่าที่ควรเป็น ซึ่งรัฐบาลกำลังจะมีมาตรการเกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มรถกระบะออกมาเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันตลาดรถยนต์ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมด้วย จึงทำให้ตลาดรถยนต์ในปีที่แล้วปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลก็เชื่อว่า มาตรการต่าง ๆ ที่มี เช่นมาตรการ EV 3.5 จะช่วยประคับประคองได้
นายธนเดช รังษีธนานนท์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กล่าวว่า ประเด็นภาษีนำเข้าที่สหรัฐจะคิดกับไทยนั้นยังไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นรายละเอียด โดยมีเวลาศึกษาถึงเดือนเมษายน ซึ่งฝ่ายไทยต้องทำแผนเพื่อเสนอโดนัลด์ ทรัมป์ที่เปิดทางให้ต่อรอง แต่หากไทยคิดภาษีสหรัฐในอัตราสูง อาจทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐถูกชาร์จภาษีรวมทั้งหมดหรือจะคิดเป็นรายอุตสาหกรรม ยังไม่ทราบชัด จึงเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ยาก