ส่งออกรถยนต์: จาก 6 หมื่นล้านในสหรัฐ สู่ความเสี่ยง 1 ล้านล้าน

15 ก.พ. 2568 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2568 | 12:39 น.

ทำไมการขึ้นภาษีรถยนต์ของทรัมป์ถึงน่ากังวล? เมื่อญี่ปุ่น-เกาหลีเป็นเป้าหมายหลัก ทั้งที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเพียง 6 หมื่นล้าน แต่กระทบห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ เปิดตัวเลข 10 ตลาดส่งออกรถยนต์ไทย

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะเปิดเผยมาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกดดันให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้เป็นเป้าหมายหลัก

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลการส่งออกของไทย จากกระทรวงพาณิชย์ พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออกรวม 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.34% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

สำหรับ 10 ตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญของไทย ประกอบด้วย ออสเตรเลีย มูลค่า 227,361 ล้านบาท, ฟิลิปปินส์ 88,329 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 68,745 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 66,525 ล้านบาท, ซาอุดีอาระเบีย 57,105 ล้านบาท, เวียดนาม 52,928 ล้านบาท, มาเลเซีย 51,300 ล้านบาท, เม็กซิโก 50,637 ล้านบาท, อินโดนีเซีย 46,586 ล้านบาท และแอฟริกาใต้ 36,254 ล้านบาท

แม้สหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทย แต่การขึ้นภาษีนำเข้าครั้งนี้อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์โลก เนื่องจากประเทศเป้าหมายอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอัตราภาษีและขอบเขตสินค้าที่จะถูกจัดเก็บ โดยทรัมป์ระบุว่าจะประกาศรายละเอียดในเดือนเมษายน พร้อมกับมาตรการภาษีนำเข้าอื่นๆ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ และยา

ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์ยานยนต์รวมมูลค่า 471,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยเม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ตามด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และเยอรมนี