“โดนัลด์ ทรัมป์” ยักษ์ที่พร้อมใช้ตะบองทุบทุกประเทศ

15 ก.พ. 2568 | 09:09 น.

ตอนนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกปวดหัวที่จะมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นอย่างไร เพราะได้ออกมาตรการกำหนดภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยไม่ไว้หน้าใคร

แม้กระทั่งกับประเทศคู่สัญญาการค้าเสรีที่ใกล้ชิดสุดสุด เช่น แคนาดา และเม็กซิโก โดนก่อนใครและประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ต้องพูดถึงกันครับ ผมว่าไม่น่ารอด

เพียงแต่รอดูจังหวะ หาเหตุผลถนัด ๆ  และที่สำคัญ คือ อารมณ์ของเจ้าพ่อทรัมป์ และล่าสุดก็เป็นจริงดังว่า คือเปิดศึกทางการค้ากับทั้งโลก โดยการขึ้นภาษีศุลกากรอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมกับประเทศต่าง ๆ ทั้งโลก

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า รายได้จากภาษีศุลกากรที่ว่านี้จะเข้ากระเป๋ารัฐบาลของประเทศผู้นำเข้า ส่วนผู้ที่จ่ายภาษี คือบริษัทผู้นำเข้าของประเทศนั้น ๆ ส่วนภาระภาษีจะตกอยู่กับใครนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง ถ้าเราคิดแบบง่าย ๆ ว่าภาษีศุลกากรที่เกิดขึ้นมานี้ ผู้นำเข้าก็เอาไปบวกในราคาสินค้าที่จะขายให้กับผู้บริโภคในประเทศก็จบ ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้าก็จะเป็นผู้รับภาระภาษี

แต่ความจริงก็คงไม่ถูกเสียทีเดียวนัก เพราะหากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง ความหมายง่ายๆ ก็คือ ถ้าขึ้นราคาสูงแล้ว ผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้าจะซื้อสินค้าน้อยลง ผู้นำเข้าก็เดือดร้อน ขายของได้น้อย และลามไปถึงผู้ผลิตของประเทศผู้ส่งออก เพราะจะมีคำสั่งซื้อสินค้าลดลง

บางทีอาจจะต้องลดราคาสินค้าของตัวเองลง ทำให้มีรายได้ที่ลดลง ส่วนผู้นำเข้า ก็อาจจะบวกภาษีศุลกากรเพิ่มไปในราคาสินค้าขายบ้างแต่ไม่มากเท่ากับค่าภาษีศุลกากร ดังนั้น ก็ถือว่าได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีของประเทศผู้นำเข้ากระทบกันทั่วหน้า เพราะด้วยจำนวนสินค้าเดิม ผู้ผลิตในประเทศผู้ส่งออกได้เงินน้อยลง บริษัทนำเข้ากำไรลดลง และผู้บริโภคคนสุดท้ายต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่คนที่มีรายได้เพิ่ม
ก็คือ รัฐบาล

นอกจากนี้ หากเรามองในภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว เรียกว่าไม่มีอะไรดี จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกพยายามที่จะลดกำแพงภาษีศุลกากร หรือการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันในนามของ Non Tariff Barriers หรือ NTBs กระทั่งมีการรวมตัวกันตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศนั้นมีความคล่องตัว เพราะระบบการค้าแบบเสรีนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรของมนุษยชาติในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ประเทศไหนผลิตสินค้าใดได้ดีและต้นทุนต่ำโดยเปรียบเทียบก็ผลิตสินค้านั้นไป แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันก็จะทำให้สินค้ามีราคาถูก และผู้บริโภคก็จ่ายเงินน้อย ซึ่งถือว่าดีกับทุกฝ่ายและในภาพรวม

เรื่องนี้ ผู้นำประเทศต่าง ๆ ก็รู้ และผู้วางนโยบายเศรษฐกิจทุกคนก็รู้ เพราะเรียนมาจากตำราเหมือน ๆ กัน แต่ทำไมหลายประเทศถึงยังใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือทางการค้าระหว่างประเทศอยู่ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการค้าเสรี โดยการตั้ง GATT และต่อมากลายร่างเป็น WTO ในปัจจุบันนี้

แต่หลักการนี้ก็เปลี่ยนไปตามสภาพและศักยภาพที่สหรัฐอเมริกาคิดว่าตนเองจะได้ประโยชน์ แม้ว่าในหลักการเชิงมหภาคแล้ว การขึ้นอัตราภาษีศุลกากรจะมีแต่ข้อเสีย แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มที่ได้ แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าแย่ลง

และมาถึงคำถามที่ว่า แล้วทำไมทรัมป์ถึงต้องเพิ่มกำแพงภาษีศุลกากรง่าย ๆ อย่างนั้น ผมเชื่อแน่นอนว่า กรณีนี้สหรัฐอเมริกาหรือตัวทรัมป์เองได้ประโยชน์แน่ ๆ ถึงยอมปล่อยให้คนส่วนใหญ่ด่าเล่น แต่ผมมั่นใจว่าเขารู้ดี เขาเป็นนักการเมืองระดับนี้ เพียงแต่ผลประโยชน์ที่เขาได้รับนอกเหนือความคาดหมายของเรา คงไม่ยอมปล่อยให้ใครด่าเล่น ๆ ว่า “Lunatic” หรอกครับ

เราลองมาคิดเล่น ๆ และแยกออกมาดูในบริบทต่าง ๆ แล้วจะเห็นว่าภาษีศุลกากรนั้นมีคุณต่อประเทศผู้ใช้ โดยข้อแรกเราสามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่ป้องกันอุตสาหกรรมในประเทศตนเองได้ เพราะภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตในประเทศนั้นมีราคาสูงขึ้นเมื่อรวมภาษีศุลกากรแล้ว ถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งทรัมป์ย้ำเสมอว่าการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรก็เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมอเมริกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะหากสินค้านำเข้ามีน้อยลง ผู้ผลิตในประเทศก็ขายของได้มากขึ้น มีการผลิตเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น เรียกว่าประชาชี สดใส หน้าชื่นตาบาน แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ ตามแบบฉบับนักการเมือง

เขาอาจสื่อต่อแฟน ๆ จนฟังดูเหมือนว่าภาษีศุลกากรนั้น ประเทศผู้ผลิตที่ส่งสินค้านั้นมาเป็นคนจ่าย “พวกนั้นโกง ขูดรีด เอาเปรียบเรา ไม่ยอมจ่ายภาษีเรา” ประมาณนี้แหละครับ แล้วเราจะมีเงินมากขึ้นเพื่อใช้หนี้ที่มีกว่า 3 ล้านล้านดอลล่าร์ฯ

ผมฟังสัมภาษณ์คนที่เชียร์มาตรการนี้ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของทรัมป์แล้ว “หัวจะปวด” เขาก็เชื่อของเขาตามนั้น ส่วนวัตถุประสงค์ที่สองของภาษีศุลกากร คือการเป็นเครื่องปั่นเงินหรือรายได้ให้กับรัฐบาลเหมือนภาษีอื่น ๆ เพียงแต่เก็บจากสินค้านำเข้า และหลายคนก็ยังเชื่อว่า การที่มีอัตราภาษีศุลกากรสูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีส่วนนี้สูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็มีทั้งส่วนจริงและไม่จริง

เพราะหากเราตั้งกำแพงภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สินค้านำเข้าเหล่านี้เมื่อรวมภาษีศุลกากรที่สูงนี้ มีราคาขายในประเทศสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการซื้อลดลง ส่งผลทำให้การนำเข้าสินค้านี้ลดลง ก็จะส่งผลกลับมาทำให้รายได้ภาษีส่วนนี้ลดลงได้เช่นกันในเรื่องนี้ต้องหาอัตราภาษีศุลกากรที่เหมาะสมที่จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีส่วนนี้มากที่สุด

นักเศรษฐศาสตร์ใช้เส้นที่เรียกว่า Laffer Curve เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษีของรัฐกับรายได้ภาษีของรัฐ โดยมีเรื่องความยืดหยุ่นของสินค้าทั้งทางด้านอุปสงค์ และอุปทานมาพิจารณาด้วย เพื่อหาอัตราภาษีที่เป็นจุด Optimal หรือรายได้ภาษีมากที่สุด

ส่วนเรื่องที่สาม คือใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการเป็นแบบต่างตอบแทน (Reciprocity) ซึ่งตามหลักการแล้ว ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายตลาดการค้าตัวเอง ซึ่งก็คือการเจรา FTA ที่เราได้ยิน เพราะตอนนี้มีความตกลงประเภทนี้อยู่ทุกมุมโลก และ ASEAN ก็หลักการเดียวกัน แต่ลึกซึ้งมากกว่าแค่การลดภาษีศุลกากร

แต่ในกรณีครั้งนี้ ผมคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องต่อรองในวัตถุประสงค์อื่นมากกว่า ผมว่าเหมือนยักษ์ใช้ตะบองขู่ให้เด็ก ๆ กลัว แล้วให้ทำตามที่ยักษ์ต้องการ แต่เป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ขัดใจทรัมป์เป็นสำคัญ และสร้างภาพความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาตามแบบ America great again มากกว่าเรื่องการค้าเสรีครับ ดูอย่างกรณีของแคนาดากับเม็กซิโก เพราะเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพที่ไม่ถูกกฎหมาย

รวมทั้งยาเสพติดที่ข้ามชายแดน ส่วนโคลัมเบีย ก็เรื่องที่ไม่ยอมรับคนหนีเข้าเมืองผิดกฏหมายกลับประเทศ รวมถึงขู่ที่จะขึ้นภาษีศุลกากรร้อยเปอร์เซ็นต์กับกลุ่มประเทศที่จะเลิกใช้เงินดอลล่าร์ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า ก็คือ หมายหัวพวกสมาชิก BRICS ซึ่งในส่วนที่สามนี้ ผมว่าโทษทรัมป์ได้ไม่เต็มปากนัก เพราะนี่อาจเป็นรากเหง้าทางความคิดของระบบทุนนิยมที่มองว่าหากเราแข็งแกร่งกว่า ก็ใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

เรื่องแบบนี้มีมาตั้งแต่อดีตสมัยล่าอาณานิคมของตะวันตกแล้วครับ แต่ในครั้งนั้นใช้กำลังทหารบังคับให้ประเทศที่อ่อนแอกว่าเปิดประเทศ เพื่อตนเองจะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์และทรัพยากรต่าง ๆ ของคนอ่อนแอมาเป็นของตนเอง หรือปัจจุบันที่จะใช้กำลังทหารไม่ได้ถนัดนัก แต่ก็ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงตั้งกำแพงภาษีพิเศษต่าง ๆ ทำหน้าที่คล้าย ๆ ภาษีศุลกากรให้สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทำตามที่ตนเองต้องการ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม หรือเงื่อนไขสารพัดทางด้านมนุษยธรรม โปร่งใส หรืออื่น ๆ ที่ตนเองคิดว่า “ใช่” และได้เปรียบ “เด็ก” ซึ่งถ้าเจอยักษ์ที่มีตะบองใหญ่พอๆ กัน ก็ต้องวางแผนระมัดระวังหน่อย เพราะถ้าเจอสวนกลับอาจสาหัสได้เหมือนกัน

ส่วนตัวผมแล้ว ทรัมป์เป็นนักการเมืองที่เก่ง รู้ว่าในเวทีการเมืองโลกนั้น สหรัฐฯ เป็นยักษ์ที่ทุกคนกลัวและเกรง แถมมีตะบองในมืออีกด้วย ที่ผ่านมาประธานาธิบดีหลายคนอาจมีคำว่า อาย หน้าบาง เขินเกรงใจกลัวคนทั้งโลกด่า หรือไม่ก็ยอมอะไรให้คนอื่นมากมายเพื่อให้คนรัก และศรัทธา ส่งผลทำให้เสียโอกาสที่จะเอาเปรียบประเทศอื่นได้น้อยลง

แต่ทรัมป์มาคราวนี้ ทำตัวเองเป็น ยักษ์ใจร้าย และเป็นยักษ์ที่พร้อมใช้ตะบองทุบทุกคน เพื่อประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและคนอเมริกันเป็นอันดับแรกเท่านั้น ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม USAID ถูกยุบ การถอนตัวจาก Paris Accord และ WHO และปกป้องผลประโยชน์อุตสาหกรรมในประเทศ เรียกความสะใจจากแฟนพันธุ์แท้สายซาดิสต์ได้มากโขอยู่