ท่ามกลางผลักดันนโยบายรัฐบาลด้วยการ "นำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นบนดิน" ทั้งการศึกษาปลดล็อกกฎระเบียบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การผลักดันกฎหมายพนันออนไลน์ และการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) หรือ สถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนถูกกฎหมายอยู่ในนั้น 10% ของพื้นที่
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" วิเคราะห์ที่มาและผลกระทบของนโยบายดังกล่าว
นักวิชาการอาวุโส TDRI เผยว่า การผลักดันนโยบายเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จากที่เคยเติบโตในระดับ 7-8% ต่อปีในยุคโชติช่วงชัชวาล ลดลงเหลือ 4-5% ในช่วงปี 2001-2009 และเหลือเพียง 3.6% ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 (2011-2019) และยิ่งทรุดตัวลงเหลือเพียง 2.3% ในช่วงหลังโควิด
"สถานการณ์นี้อันตรายมาก เพราะในขณะที่รายจ่ายภาครัฐสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่มีเศรษฐกิจที่จะมาสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ" ดร.นณริฏกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน
"ขนาดจะผลิตแบรนด์มือถือของตัวเองยังทำไม่ได้ จะกระโดดไปผลิต AI แข่งกับต่างประเทศ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้" นักวิชาการ TDRI กล่าว และอธิบายว่าด้วยข้อจำกัดดังกล่าว รัฐบาลจึงหันมาพิจารณาข้อเสนอเก่าๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเทาที่เคยมีการผลักดันมาตั้งแต่ 10-15 ปีก่อน เช่น การเปิดกาสิโนที่เกาะล้านหรือเกาะช้าง
ดร.นณริฏอธิบายว่า ในอดีตข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดี
"ถ้าเศรษฐกิจดี เงินอู้ฟู่ เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปนั่งเปิดกิจกรรมแปลกๆ เราก็ทำกิจกรรมปกติของเรา คนก็มีรายได้กันอยู่แล้ว"
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ TDRI เน้นย้ำว่าการนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าใครได้ใครเสีย เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้มักมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมสูง
ในกรณีของสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย ดร.นณริฏ มองว่าหากมีการจำกัดให้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่สามารถใช้บริการได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ
"ถ้าคนไทยไม่เล่น คนเล่นเป็นต่างชาติอย่างเดียว ต่างชาติเขาก็เสียเงินมาเล่น ส่วนคนที่ได้ก็คือแรงงานที่เข้าไปทำงาน เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะเฟื่องฟู มันก็เป็นวิน-วิน สำหรับต่างชาติเองก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเขาก็ได้มาท่องเที่ยวชายหาด ได้พักผ่อนหย่อนใจ หรือมาแข่งขันในรูปแบบต่างๆ เช่น World Series of Poker ที่ไทยก็ได้เป็นเจ้าภาพ"
อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายสุราก้าวหน้าและการปลดล็อกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดร.นณริฏ แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น
"ผู้บริโภคมักจะไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแก่ตัวไป สุขภาพก็จะย่ำแย่ลง ถ้าบริโภคเหล้าสูบบุหรี่นานๆ"
นอกจากนี้ยังนำไปสู่ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องรับผิดชอบผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นักวิชาการอาวุโส TDRI ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในมุมมองทางการแพทย์ต่อการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมที่ว่า "ดื่มไวน์วันละแก้วทำให้สุขภาพดีขึ้น" มาเป็น "ภัยร้ายของการบริโภคแอลกอฮอล์เกิดขึ้นตั้งแต่หยดแรก" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นแม้จะดื่มในปริมาณน้อย
"การปลดล็อกกฎระเบียบเหล่านี้ คนที่ได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการ ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ แน่นอนคุณก็อยากให้มีความหลากหลาย อยากให้มีการกระตุ้นการบริโภค แต่ถ้าไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมที่ตามมา สังคมอาจจะต้องสูญเสียมากกว่าที่คาด" ดร.นณริฏกล่าว
สำหรับประเด็นการปลดล็อกข้อจำกัดด้านเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การขายในวันพระใหญ่ หรือการขยายเวลาจำหน่าย นักวิชาการ TDRI ยังคงยืนยันจุดยืนที่ไม่เห็นด้วย "ไม่ว่าคุณจะปลดล็อกสุราก้าวหน้าด้วยรูปแบบไหน สาระสำคัญมันคือเหมือนกัน คือให้คนซื้อได้ง่ายขึ้น บริโภคได้ง่ายขึ้น แบบไม่มีข้อจำกัด"
"ถ้าเทียบรายได้จากค่าธรรมเนียมหรือภาษีสุรากับค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมคิดว่ามันติดลบ เพราะมันมีผลกระทบในแง่ลบเยอะมาก และต้นทุนเหล่านี้มักจะไม่ถูกนำมาคิดคำนวณอย่างครบถ้วน" ดร.นณริฏกล่าวทิ้งท้าย
พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลควรพิจารณาทางเลือกอื่นในการเพิ่มรายได้ที่มีผลกระทบต่อสังคมน้อยกว่า