KEY
POINTS
ปัจจุบัน “กรมทางหลวง” มีแผนพัฒนาโครงการถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หลายเส้นทาง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเดินทางของประชาชนสู่ภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ
ขณะเดียวกันยังเดินหน้าศึกษาแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2566-2585) (MR-MAP) ผ่านการบูรณาการกับแผนพัฒนาระบบราง(มอเตอร์เวย์ - รถไฟทางคู่ – รถไฟความเร็วสูง) ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันในปี 2568 ตามแผน MR-MAP กรมทางหลวง (ทล.) มีแผนนำร่องในเส้นทาง MR 8 ช่วงชุมพร - ระนอง ระยะทาง 94 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 130,336 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวเส้นทางที่รองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์
ทั้งนี้ MR 8 ช่วงชุมพร – ระนอง ตามแผนอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อออกแบบรายละเอียดฯ ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้
หลังจากนั้นจะดำเนินการศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียดตามเอกสารการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) ภายในเดือนเมษายน-ธันวาคม 2568 โดยจะเสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาผลการศึกษาฯภายในต้นปี 2569 และเริ่มก่อสร้างภายในกลางปี 2569 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 2569 กรมทางหลวง (ทล.) เร่งผลักดันโครงการใหม่ที่อยู่ภายใต้ผลการศึกษาMR-MAP จำนวน 3 โครงการ ซึ่งเป็นการผลักดันในเส้นทางระหว่างภาคเหนือและภาคกลางเพื่อเชื่อมเข้ากรุงเทพฯและปริมณฑล
สำหรับโครงการ MR1 นครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 70 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 52,398 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯเตรียมจัดทำคำของบประมาณในปี 2569 เพื่อออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 35 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษาและออกแบบภายในปี 2569-2570
ทั้งนี้จะเสนอรายงานอีไอเอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบ และศึกษารูปแบบการลงทุนภายในปี 2570 หลังจากนั้นจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2581
ขณะที่โครงการ MR10 วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี - ทล.32 ระยะทาง 38 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 32,186 ล้านบาท ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 17 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษาและออกแบบภายในปี 2569-2570
ทั้งนี้จะเสนอรายงานอีไอเอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบ และศึกษารูปแบบการลงทุนภายในปี 2570 หลังจากนั้นจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2582
ปิดท้ายที่ MR1 ช่วงสุพรรณบุรี-ชัยนาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาระยะทางและวงเงินลงทุนที่ชัดเจน โดยกรมฯเตรียมจัดทำคำของบประมาณในปี 2569 เพื่ออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) วงเงิน 37 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษาและออกแบบภายในปี 2569-2570
อย่างไรก็ดีตามแผน MR1 ช่วงสุพรรณบุรี-ชัยนาท จะเสนอรายงานอีไอเอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นชอบ และศึกษารูปแบบการลงทุนภายในปี 2570 หลังจากนั้นจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2583
เมกะโปรเจ็กต์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568