ไทยเหลื่อมล้ำสูง “อบาคัส ดิจิทัล” เปิด 3 ความท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจ

03 ก.พ. 2568 | 20:47 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2568 | 23:59 น.

อบาคัส ดิจิทัล ชี้ไทยเหลื่อมล้ำสูง คนรวย 10% มีรายได้รวมเกินครึ่งของจีดีพีประเทศ เปิด 3 ความท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจ แนะรัฐสร้างนโยบายชัดเจน

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด กล่าวในงานสัมนา GO THAILAND 2025 หัวข้อเรื่อง “Tech for inclusive growth : AI แก้ความเหลื่อมล้ำ“ ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำยังสูงมาก หากมองว่าคนรวย 10% ของประเทศเรา มีรายได้โดยรวมเกินครึ่งของจีดีพีทั้งปีของประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันค่อนข้างมากเท่านี้ แสดงให้เห็นว่ามันมีความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย 

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล

สำหรับความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ มองว่ามีอยู่ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพการผลิตของเราตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด โดยศักยภาพการผลิต ณ วันนี้ต่ำกว่า 7 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

“ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ลงทุนด้านแรงงานมากกว่าด้านเทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจใหญ่มีต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขยายศักยภาพของธุรกิจ ฉะนั้น ความมั่งคั่งจึงยิ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนายทุนเพียงหยิบมือเดียว ทำให้ความเจริญไม่กระจายไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้”

2. ศักยภาพ ทักษะของแรงงาน ไม่ตอบโทย์การจ้างงานอีกต่อไป โดยตัวเลขที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อเราจบปริญญาตรี และเทียบคนที่จบมัธยมปลายนั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะมีรายได้สูงกว่าผู้ที่จบมัธยมปลาย 3 เท่า ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขลดลง อยู่ต่ำกว่า 2% สวนทางกับประชาคมโลกอย่างมีนัยะสำคัญ 

และ 3. การเข้าถึงโอกาสทางด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า 45% ของเศรษฐกิจไทยอยู่นอกระบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถมองเห็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจ ฉะนั้น กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินสดแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และหันไปพึ่งหาหนี้นอกระบบ 

ทั้งนี้ พบว่า 42% ของครัวเรือนไทยยังต้องกู้หนี้นอกระบบอยู่ ซึ่งขนาดหนี้นอกระบบของเมืองไทยมีอยู่ตั้งแต่ 80,000 ล้านบาท จนถึง 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้น โอกาสในการเข้าถึงหนี้ในระบบได้จะเป็นตัวช่วยปลดล็อคปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย 

อย่างไรก็ตาม วันนี้เริ่มมีความหวัง เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างจริงจัง โดยศักยภาพของเอสเอ็มอีสามารถนำเอไอมาใช้ได้ ขณะที่สิงคโปร์เริ่มมีมาตรการลดต้นทุนการใช้เอไอเพื่อนำมาใช้พัฒนาเอสเอ็มอีขนาดเล็กมีต้นทุนที่ต่ำ และเติบโตไปได้ 

ขณะที่ในด้านการเพิ่มทักษะแรงงาน การรีสกิล อัพสกิล สามารถเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หาความรู้ทางด้านออนไลน์ ดิจิทัลได้

ด้านโอกาสทางการเงินนั้น พิสูจน์แล้วว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลเลนนิ่งสามารถช่วยนำคนจากนอกระบบเข้ามากู้เงินในระบบได้อย่างมีนัยะสำคัญ จากเดิมธนาคารอาจจะใช้ตัวแปร 20-25 ตัว แต่ขณะนี้ใช้ข้อมูลในการปล่อยกู้ประกอบ 1,000-2,000 ตัว จากเดิมใช้ระยะเวลาในการอนุมัติ 1 สัปดาห์ในการปล่อยสินเชื่อ และตอนนี้เพียง 2 นาทีก็สามารถอนุมัติสินเชื่อได้แล้ว 

“เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถลดปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่ใช่ว่าเทคโนโลยีทุกอย่างจะนำมาแชร์กัน และทุกคนจะได้ประโยชน์ทุกกลุ่มในสังคม เราพบว่า จริงแล้วเทคโนโลยีที่โตก้าวกระโดดอาจมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่ง เช่น ผู้ที่มีความรู้ไม่เพียงพอ ไม่เข้าใจ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกผลักออกไป”

ทั้งนี้ ในด้านภาครัฐนั้น จำเป็นจะต้องทำความชัดเจนด้านนโยบาย และดิจิทัลอินฟราซัคเจอร์ที่จะเข้าถึงได้ และมีต้นทุนที่ราคาถูก รวมไปถึงการแข่งขันที่เป็นธรรม 

ขณะเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรีสกิล และส่งมาตรการทางด้านเศรษฐกิจลงไปถึงคนในทุกระดับ ฉะนั้น ขอให้บริการเหล่านี้ ต้องส่งเสริมให้คนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของเขาก่อน และจะต้องให้บริการอย่างทั่วถึง ทั้งคนพิการ ชายขอบ คนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น 

นอกจากนี้ ฝากถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องทักษะเพียงอย่างเดียว โดยการที่จะเป็นผู้สร้างได้นั้นความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากต้องการมีประชากรที่มีศักยภาพขอให้สร้างพื้นฐานทางสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับเล็ก ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย